เปิดใจลูกเรือ Logos Hope เรือเปลี่ยนชีวิต : เราสามารถเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ เลือกไปในสถานที่ที่สนใจ และเลือกที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้

เปิดใจลูกเรือ Logos Hope เรือเปลี่ยนชีวิต

การที่มนุษย์เกิดมาพร้อมมือ เท้า สมอง ดวงตา ปาก หู และอวัยวะสำคัญอื่นๆ อาจเป็นความตั้งใจของธรรมชาติที่ต้องการให้เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองได้ แต่ธรรมชาติไม่ได้ยิ่งใหญ่เพียงแค่นั้น เพราะธรรมชาติยังได้มอบความเป็นมนุษย์มาด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า ด้วยร่างกายนี้ เราสามารถเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ เลือกไปในสถานที่ที่สนใจ และเลือกที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ เช่นเดียวกับอดีตมาร์เก็ตติ้งสาวของโอสถสภา “ลิ้นจี่ - วาสนา บัวคำ” ที่วันนี้เธอมีตำแหน่งเป็นลูกเรือ Logos Hope และได้ใช้ทุกวันอย่างคุ้มค่าด้วยการทำงานเพื่อคนอื่นบนเรือชื่อดังนั่นเอง

“จริงๆ แล้วเคยมาเที่ยวเรือลำก่อนหน้าที่ชื่อ ดูโลส (Doulos) ซึ่งประทับใจมาก และก็มาทราบจากที่โบสถ์ว่า เราสามารถอาสาขึ้นมาทำงานบนเรือได้นะ ตอนนั้นก็เริ่มสนใจแล้วค่ะ แต่ยังเรียนมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่ มศว เลยไม่ได้ทำอะไรมาก หลังจากเรียนจบ ทำงานได้สองปี เรือก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเพิ่งเรียนจบ ยังสนุกกับงานอยู่ก็เลยเลือกที่จะทำงาน แต่พอทำงานไปเยอะๆ ประมาณ 6 ปีได้ ก็เริ่มรู้สึกว่า เรามีความสุขกับการออกไปช่วยคนร่วมกับทางโบสถ์มากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มรู้สึกว่า 6 ปีกับการทำงานให้ตัวเองและครอบครัวมันน่าจะพอสมควรแล้ว เลยอยากทำตัวเองให้มีประโยชน์มากขึ้นอีกนิดหนึ่งด้วยการออกไปช่วยเหลือคน อื่นทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เราก็มีประสบการณ์มากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่ในบริษัท หรืองานที่เราทำ หรือสิงที่เราเรียนมา”

จากความตั้งใจของเธอทำให้เธอตัดสินใจไปที่องค์กรชื่อ OM (Operation Mobilisation) Thailand ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสาขาอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นองค์กรที่มีคอนเนกชันกับทางเรือ Logos Hopeลิ้นจี่เล่าว่าเธอเองก็เริ่มจากไปสมัตร และเข้ารับการทดสอบต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ และทัศนคติในการขึ้นเรือว่าจะสามารถเข้ากับวัฒนธรรมของคนบนเรือได้หรือไม่

“จากที่เขาทดสอบเรา ทำให้ทราบว่าสิ่งสำคัญที่เขาพิจารณาก็คือทัศนคติของเราในการขึ้นมาทำงานบน เรือ แน่นอนไม่ใช่การเที่ยวรอบโลก แน่นอนไม่ใช่การพักร้อน แต่เป็นการอุทิศตนเพื่อทำงาน แม้จะเป็นงานที่ตัวเองไม่ถนัดเท่าไร และก็ต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ และยอมอุทิศตัวเองเพื่อประโยชน์ของคนอื่นค่ะ” เธอเล่าย้อนถึงช่วงเวลาของการไปสมัคร

 

เปิดใจลูกเรือ Logos Hope เรือเปลี่ยนชีวิต

 

ขึ้นเรือ ประสบการณ์สุดประทับใจ
เมื่อผ่านการคัดเลือกจนกลายเป็น 1 ในลูกเรือ Logos Hope สิ่งที่ตามมาคือการอบรมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนการขึ้นเรือ ซึ่งเธอต้องเดินทางไปขึ้นเรือที่ประเทศกัมพูชา และการต้อนรับเพื่อขึ้นเรือนั้นก็ได้นำมาซึ่งความประทับใจที่ยากจะลืมเลือน

“ภาพที่ประทับใจคือเราเห็นเรือจอดอยู่ริมทะเล มีชายหาดสวยงามมาก เราก็วิ่งมาตามทางที่เขากำหนดไว้ แล้วก็ถือธงชาติของตนเอง ส่วนคนที่ทำงานบนเรืออยู่แล้วเขาก็มาต้อนรับโดยการทำเป็นอุโมงค์ธงนานาชาติ แล้วเราทุกคนก็วิ่งลอดอุโมงค์ขึ้นเรือ จากนั้นเขาก็กล่าวต้อนรับเราในฐานะสมาชิกใหม่อย่างอบอุ่น ทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นการเริ่มต้นของชีวิตใหม่ บ้านหลังใหม่ที่มีเพื่อนมากมายในบ้านค่ะ”

“คุณพ่อคุณแม่ก็เห็นด้วย เขาดีใจที่เราได้ไป ส่วนตัวคุณพ่ออยากให้ลูกได้ออกไปมีประสบการณ์มากขึ้นอยู่แล้ว ส่วนแม่เขาก็เป็นห่วงเป็นธรรมดา ยิ่งลูกสาวด้วย แต่เขาก็ดีใจที่เราได้ออกไปมีประสบการณ์มากขึ้น” ลิ้นจี่เล่า

ชีวิตบนเรือ
จากสองเท้าที่เคยสัมผัสพื้นดินอยู่มาตลอดชีวิต เมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องย้ายจากการสัมผัสพื้นดินเป็นการยืนบนเกลียวคลื่น ย่อมเป็นประสบการณ์ที่แตกต่าง ซึ่งลิ้นจี่เล่าว่า

“หลังจากที่เรียนแล้วก็ทำงาน 6 ปีมันเป็นอะไรที่เหมือนเดิม แต่เราเลือกที่ก้าวออกมาเพื่อเจอกับสิ่งใหม่ สิ่งแรกที่ประทับใจคือเราได้อยู่ร่วมกับคนถึง 60 ชาติที่มีวัฒธรรมต่างกันอย่างมาก แต่เรามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน คนบนเรือมีข้อขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ถ้าเราปราศรัยกันด้วยความรัก มันจะจบลงด้วยความรักและการให้อภัย”

นอกจากนั้นแล้ว ชีวิตบนเรือยังมีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย ลูกเรือสามารถเลือกได้ตามความสนใจ หรือความถนัดของตนเอง แต่จุดมุ่งหมายของกิจกรรมทั้งหมดเหล่านั้นคือการพัฒนาทักษะเพื่อออกจะไปช่วย เหลือชุมชนนั่นเอง “ในหนึ่งสัปดาห์ เราจะทำงานบนเรือ 5 วัน แล้วจะมี 1 วันที่เราจะออกไปช่วยเหลือคนตามชุมชนต่างๆ อย่างมาประเทศไทย ก็จะไปชุมชนแออัด หรือไปพบกับเด็กที่ต้องการฝึกภาษาอังกฤษ หรือตามต่างจังหวัดที่ต้องการการช่วยเหลือจากเราจริงๆ”

อย่างไรก็ดี ในการใช้ชีวิตบนเรือก็มีความยุ่งยากที่ลูกเรือชาวไทยต้องปรับตัวอยู่เช่นกัน และลิ้นจี่บอกว่ามันคือ “ภาษา” “ส่วนที่ยากที่สุดในการใช้ชีวิตบนเรือคือภาษาค่ะ รู้สึกว่าระบบการศึกษาไทยสอนให้เด็กไทยทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้เก่งมาก คะแนนสอบเยี่ยม แต่พูดอังกฤษไม่ได้เลย ในขณะที่เจอชาติอื่นอย่างแอฟริกัน เขาพูดได้ดีกว่าเรา ถึงแม้ว่าเขาอาจถามศัพท์บางคำจากเราว่าแปลว่าอะไร เราสามารถตอบเขาได้ว่าแปลว่าอะไร แต่ในภาพรวมแล้วเขาพูดอังกฤษได้ดีมาก แต่เราพูดไม่ได้เหมือนที่เขาพูด และความกล้าของเด็กในการพูดก็แตกต่างกันค่ะด้วยค่ะ แต่ก็ไม่ได้ลำบากมากนักค่ะ พอผ่านไปสัก 2 สัปดาห์ก็ปรับตัวได้แล้ว”

ทั้งนี้ ข้อกำหนดของการขึ้นเรือยังระบุว่าลูกเรือสามารถลาพักร้อนได้ เช่นกรณีของลิ้นจี่ เธอสามารถลาพักร้อนได้ 14 วันจากการอาสามาทำงานบนเรือ 2 ปี แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ทราบร่วมกันว่า ทักษะด้านภาษาของลูกเรือชาวไทยจะเป็นประโยชน์ที่สุดก็คือเวลาที่เรือจอดอยู่ ในประเทศไทยนั่นเอง ส่งผลให้ลูกเรือชาวไทยทุกคนไม่มีใครใช้วันลาพักร้อนดังกล่าวเพื่อกลับไปพบ หน้าครอบครัวเลยสักคน รวมถึงลิ้นจี่ด้วย แต่สิ่งที่ประทับใจมากขึ้นไปกว่านั้นก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ของเหล่าลูกเรือได้เดินทางมาเยี่ยมลูกๆ บนเรือทุกวัน และใช้เวลานั้นอยู่กับลูกๆ อย่างคุ้มค่านั่นเอง

 

เปิดใจลูกเรือ Logos Hope เรือเปลี่ยนชีวิต

 

เบื้องหลังการใช้ชีวิตบนเรือที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ
หากเอ่ยว่าบนเรือ Logos Hope มีโรงเรียน! คงฟังดูเหลือเชื่อแต่เป็นเรื่องจริงที่ได้รับการยืนยันจากลูกเรือสาวไทย เนื่องจากอาสาสมัครที่ขึ้นเรือมา ส่วนหนึ่งก็มีครอบครัวแล้ว และพาลูก ๆ ขึ้นมาด้วย ทำให้ทางเรือเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียน และมีอาสาสมัครที่มีใบประกาศนียบัตรครูรับอาสาสอนหนังสือเด็กๆ ซึ่งข้อดีของการเรียนบนเรือก็คือ นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว เด็กๆ ยังได้รับถ่ายทอดวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยตรงจากบรรดาลูกเรือ 400 กว่าชีวิต รวมถึงการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลาย แถมยังมีหนังสือดีๆ อีกมากมายให้เลือกอ่านได้ตลอดเวลาอีกด้วย

ส่วนอาหารการกินบนเรือนั้นก็อุดมสมบูรณ์ไม่น้อย โดยเป็นการให้บริการในลักษณะบุฟเฟ่ต์ เลือกตักได้ตามความพอใจ ประเภทของอาหารนั้นหนีไม่พ้นอาหารประเภทขนมปัง นมเนย พาสต้า แต่ถ้าหากแวะประเทศเอเชีย เช่น กัมพูชา ไทย ก็อาจมีเมนูข้าวเพิ่มขึ้นมาได้ ส่วนห้องพักบนเรือนั้น จากการเปิดเผยของลูกเรือสาวชาวไทยพบว่าเป็นห้องที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมตามสมควร เตียงเป็นเตียงสองชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่ ถ้ายังอายุน้อยอาจพักห้องละ 4 คน แต่ถ้าอายุมากขึ้นอาจพักห้องละ 2 คน เป็นต้น

อาสาสมัครบนเรือยังได้รับค่าขนมเดือนละประมาณ 20 ยูโรด้วย ส่วนการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกนั้น ลูกเรือสามารถติดต่อสื่อสารได้ด้วยโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม แต่โดยมากแล้วเป็นการใช้งานตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเมื่อสอบถามสาวลิ้นจี่ว่า ชีวิตที่ต้องอยู่โดยปราศจากโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างไร เธอรีบตอบทันทีว่า “ดีมากค่ะ”

“การอยู่บนเรือไม่ได้ทำให้เราขาดการติดต่อกับโลกภายนอก แต่เราติดต่อคนอื่นได้เท่าที่เราอยากติดต่อหรือเท่าที่เรามีเวลา ติดต่อไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็มีเพื่อน มีสังคมอยู่แล้ว นอกจากนั้นถ้าจะโทร.กลับบ้าน บนเรือก็จะมีการ์ดขาย แต่ส่วนมากคนที่บ้านจะโทร.มามากกว่าค่ะ”

อย่างไรก็ดี การอาสามาทำงานบน Logos Hope ก็มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเรียกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเรือ ลูกเรือแต่ละคนจึงจำเป็นต้องมีผู้สนับสนุนในส่วนนี้ เช่น อาจเป็นครอบครัว เพื่อนๆ หรือองค์กรการกุศลนั่นเอง โดยแต่ละประเทศอาจมีอัตราค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน

ผลลัพธ์ของการออกไปช่วยโลก
การตัดสินใจมาใช้ชีวิตบนเรือ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเลือกที่จะเดินในเส้นทางนี้แล้ว ความเชื่อ และกำลังใจให้กันและกันอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“จี่เชื่อว่าเราถูกสร้างมาเพื่อให้มี ประโยชน์ต่อกันและกัน ถ้าเรามีในสิ่งที่มันเกินความจำเป็น ถ้าลองเรากลับมาคิดว่าเรามีอะไรที่สำหรับตัวเองบ้าง และลองลิสต์ว่า เรามีอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง เราจะเห็นถึงความแตกต่าง ถ้าเราแตกต่างมากๆ เราลองพิจารณาว่า เราอยากจะมูฟ (move) บ้างไหม สิ่งที่เราให้กับตัวเอง สิ่งที่มันเกินความจำเป็นนั่นแบ่งไปให้คนอื่นบ้างดีไหม”

“คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่อย่างน้อยถ้าเราเริ่มที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนโลกหรือสังคมให้ดีขึ้น มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เชื่อว่าไม่มีการกระทำดีอันไหน ที่จะไม่เกิดผลต่อไปในอนาคต ดังนั้นอย่ากลัวที่จะเริ่มต้นในการทำสิ่งดี หรือเสียสละตัวเองเพื่อจะให้สิ่งดีกับชุมชนที่เราอยู่ หรือที่ที่เราไป เพราะว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถมองเห็นมันได้ในช่วงชีวิตของเรา แต่เชื่อว่ามันส่งผลกระทบต่อไป เราเปลี่ยนโลกได้จริงๆ ค่ะ”

ในวันที่แผ่นดินร้อนระอุไปด้วยการแก่งแย่ง แข่งขันที่ดุเดือด แผ่นน้ำที่เรือลำนี้ล่องไปกลับเป็นเส้นทางที่ตรงกันข้าม เพราะมันคือการเดินทางเพื่อไปช่วยทำให้สังคมที่เรือไปเยือนนั้น “ดีขึ้น” แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

 

ที่มา : http://www.manager.co.th/family

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ