มหกรรมหนังสือ’57 อ่านอดีตขีดอนาคต : คอหนังสือจะได้พบกับสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงานราว 435 สำนักพิมพ์ บูธทั้งสิ้น 923 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000 ตารางเมตร

มหกรรมหนังสือ’57 อ่านอดีตขีดอนาคต

ด้วยตระหนักในคุณค่าของหนังสือ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 15-26 ตุลาคม 2557 ระหว่างเวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “ก. เอ๋ย ก. ไก่ เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต” มีหนังสือใหม่ชนิดกาวแทบไม่ทันแห้ง เรื่อยไปจนถึงเก่าคร่ำคร่า ชนิดหาซื้อที่ไหนแทบไม่ได้เหมือนเดิม

คอหนังสือจะได้พบกับสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงานราว 435 สำนักพิมพ์ บูธทั้งสิ้น 923 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000 ตารางเมตร เมื่อถามว่าธุรกิจหนังสือท่ามกลางเศรษฐกิจปีนี้เป็นอย่างไร นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยบอกว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ธุรกิจหนังสือก็ไม่พ้นแนวนั้น และธรรมชาติของคนเมื่อได้เงินรางวัลใดมา คนไม่ชอบหนังสือก็ไม่คิดซื้อหนังสือเป็นอันดับแรก ส่วนคนอ่านหนังสือ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็จะซื้อหนังสือลดลง หรือซื้อเท่าที่จำเป็น

 

มหกรรมหนังสือ’57

บรรยากาศภายในงาน

 

สำหรับกระแสการอ่าน นายกเห็นว่าแนวนิยมน่าจะเป็นหนังสือสารคดี เรื่องให้ความรู้ต่างๆเป็นหลัก อย่างสารคดีเรื่อง “I am Malala” ซึ่งเป็นหนังสือที่สะท้อนให้เห็นว่า หนังสือ ปากกา สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ เขาบอกว่า ‘เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้’ เล่มนี้คิดว่า “น่าจะเป็นพระเอกของงาน”

ส่วนหนังสือซีไรต์ ซึ่งปีนี้ผลงานชื่อ อสรพิษ และเรื่องอื่นๆ ผลงานของ แดนอรัญ แสงทอง นายกเชื่อว่ากระแสรางวัลคงช่วยให้หนังสือขายดีขึ้น สำหรับเสน่ห์ของงานนี้นายกบอกว่า อยู่ที่นิทรรศการระลึกชาติในแบบเรียน ฉายให้เห็นภาพวิวัฒนาการของแบบเรียนไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แน่นอนว่าหนังสือเหล่านั้นส่งผลต่อความคิด แล้วส่งต่อไปยังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทย

ความสำคัญของแบบเรียนนั้น นายกสมาคมฯบอกว่า “แบบเรียนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมืองตามอุดมคติของสังคมในแต่ละยุคด้วย เราต้องการเน้นย้ำให้เห็นถึงการสร้างแบบเรียนในอดีตที่ผ่านมาว่าประสบความ สำเร็จและล้มเหลวอย่างไร รวมถึงผลของการสร้างแบบเรียนเพื่อตอบโจทย์ฝ่ายการเมืองในอดีตที่ผ่านมา สามารถสร้างผลกระทบในระยะยาวของประเทศได้อย่างไร เป็นการแลหน้าเพื่อก่อความหวัง แลหลังเพื่อแก้ความผิด เพราะนี่คือหน้าที่ของทุกคนที่จะร่วมสร้างร่วมสะท้อนปัญหาและการแก้ไขไป พร้อมๆกัน เพื่อไม่ให้ปัญหาเก่าๆได้กลับมาอีก”

ส่วนนักเขียนรางวัลซีไรต์รวมเรื่องสั้นชุด ความน่าจะเป็น ปราบดา หยุ่น อุปนายกสมาคมฯมองว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงวัยเยาว์ เรื่องราวในแบบเรียนต่างๆนั้น พบว่ามีลักษณะของการที่รัฐพยายามจำลองประเทศให้เป็นชุมชนเล็กๆ โดยแต่ละตัวละครหรือครอบครัวในเรื่องก็จะแทนอุดมคติที่ชาติต้องการให้ ประชาชนเชื่อไปในทางนั้น ถือเป็นส่วนที่ปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่างให้สังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะคิดเหมือนกัน เพราะในชีวิตแต่ละคนก็มีสื่ออื่นที่สร้างการรับรู้นอกเหนือจากแบบเรียนด้วย

“ในแต่ละยุคสมัยก็มีความแตกต่างกัน อย่างผมเรียนมานีมานะ ก็จะต่างจากยุคก่อนหน้า เป็นการเขียนเรื่องเล่าโดยมีพลอต ในขณะที่ก่อนหน้า ถึงผมอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าพยายามจะพูดอะไร แต่คิดว่ามีวิธีคิดบางอย่างอยู่เบื้องหลังที่น่าสนใจ”

ในงานยังมีกิจกรรม โครงการ ‘1 อ่านล้านตื่น’ จัดระหว่างวันที่ 15-22 ตุลาคม เป็นโครงการที่ให้ผู้อ่านเลือกหนังสือบริจาคด้วยตนเอง โดยจะมีเด็กๆเป็นตัวแทนกว่า 400 คน มาเลือกหนังสือที่ตนเองอยากอ่าน “เป็นกิจกรรมที่ยกระดับการส่งเสริมการอ่านที่คาดหวังในเชิงคุณภาพ เด็กที่ได้รับเชิญมาจะเป็นเด็กที่ด้อยโอกาสที่รักการอ่าน ซึ่งจะรับสิทธิ์เลือกหนังสือให้ตนเอง 1 เล่ม และเลือกหนังสือไปฝากเพื่อนในโรงเรียนหรือชุมชนในคูปองส่วนที่เหลือ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักการแบ่งปัน”

 

มหกรรมหนังสือ’57

หนังสือมากมายหลากหลาย เลือกซื้อเลือกอ่านกันได้ตามใจ

 

สำหรับคนที่ชมชอบภาพวาดล้อ ผู้จัดงานก็มี “คาราวานวาดสด” วาดภาพการ์ตูนล้อกันชนิดสดๆ ในราคาพิเศษด้วย ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ พยายามตอกย้ำความมุ่งมั่นขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการ อ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการจัดงานหนังสือขึ้นมา เพราะการอ่านจะช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องปลูกฝังและเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรักหนังสือมาตั้งแต่เยาว์วัย ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องช่วยกันเปิดประตูพาเด็กๆเข้าสู่โลกของการอ่านได้อย่าง เต็มใจ ด้วยหนังสือที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย

และยังบอกว่า เรื่องของการศึกษาถือเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญในกลุ่มที่จะต้องปฏิรูปประเทศ โดยได้มอบนโยบายการศึกษาแก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการไปเมื่อวันรับหน้าที่ แบ่งเป็น 5 นโยบายทั่วไป 7 นโยบายเฉพาะ และ 10 นโยบายเร่งด่วน ซึ่งทุกนโยบายของการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม ให้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา เพิ่มโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

แล้วกระแสการอ่านของไทยเป็นอย่างไร อังคาร จันทาทิพย์ เจ้าของรางวัลซีไรต์จากรวมบทกวีชื่อ หัวใจห้องที่ห้า บอกว่า “ระยะหลังมานี้ กระแสเรื่องวัฒนธรรมการอ่านที่ไม่ค่อยเข้มแข็งเริ่มจะกลับมาให้ได้ยินได้ฟัง บ่อยขึ้น และยังมีข้อสังเกตจากนักเขียนทั้งรุ่นอาวุโส และหลายๆรุ่นออกมาทำนองว่า ถัดจากรุ่นก่อนๆหน้า และขณะนี้ไม่ค่อยมีนักอ่านรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้น”

พูดง่ายๆว่า “กลุ่มคนอ่านหนังสือที่เป็นวรรณกรรมเริ่มขาดช่วง แต่ขณะเดียวกันทั้งคนเขียน สำนักพิมพ์ รวมถึงร้านหนังสืออิสระเกิดขึ้นมามากมาย สวนทางกับกลุ่มคนอ่านรุ่นใหม่ๆที่ลดลง จะว่าไปปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นและมีอยู่นานแล้ว เราเห็นกลุ่มคนที่เป็นปัจเจก และองค์กรที่เป็นเอกชนพยายามจะกระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้การอ่าน การเขียนกลับมามีชีวิตชีวาอยู่ตลอด กลายเป็นว่ากลุ่มคนและองค์กรเหล่านี้ต่อสู้กับปัญหานี้อยู่เพียงลำพัง และด้วยศักยภาพของทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานของรัฐเลย”

ดังนั้น “ประเด็นสำคัญ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าถ้าการอ่าน การเขียน เป็นเรื่องสำคัญ และหมายถึงวัฒนธรรมของชาติเหมือนเรื่องอื่นๆ เรื่องเหล่านี้จึงควรจะได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังจากหน่วยงานของรัฐ ที่มีศักยภาพในด้านต่างๆเข้ามารับผิดชอบ ช่วยเหลือดูแลบ้าง นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น อยากให้เกิดขึ้น และอยากเห็นที่สุด” อังคารบอก

การอ่านทำให้คนเป็นคนสมบูรณ์ แล้วคนเป็นผู้สร้างชาติ วัฒนธรรมการอ่านของบ้านเมืองเราแข็งแรงหรือไม่ สภาพบ้านเมืองปัจจุบันคือคำตอบ.

 

ขอบคุณที่มา : http://www.thairath.co.th/content/457714

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ