วิมล ไทรนิ่มนวล : คว้ารางวัลซีไรต์ครองใจคณะกรรมการและผู้อ่านจากทั่วประเทศไปเมื่อปี 2543

วิมล ไทรนิ่มนวล

หลังจากที่นวนิยาย "อมตะ" ของ วิมล ไทรนิ่มนวล คว้ารางวัลซีไรต์ครองใจคณะกรรมการและผู้อ่านจากทั่วประเทศไปเมื่อปี 2543 ชื่อเสียงของเขาที่ห่างหายไปจากวงการ วรรณกรรมไปพักหนึ่งก็หวนกลับคืนอีกครั้ง เขาไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่ที่เพิ่งจับปากกาเขียนนวนิยายแล้วได้รับรางวัลซีไรท์เป็นเครื่องการันตี แต่เขาอยู่ในวงการน้ำหมึกมานานสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ออกมาหลายเล่มพิมพ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่พ.ศ. 2525

นวนิยายเล่มแรกคือเรื่อง งู จากนั้นก็ตามติดมาด้วยคนทรงเจ้า เป็นนวนิยายที่เคยเข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลซีไรต์มาแล้ว และเป็นนวนิยายที่สร้างชื่อให้แก่วิมลจนเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่าน อีกทั้งยังถูกนำมาสร้างเป็นทั้งภาพยนต์ และละครโทรทัศน์หลายครั้ง

"เรื่องงูเป็นเรื่องแรกที่เขียน เรื่องที่สองคือคนทรงเจ้า ส่วนคนจนเขียนไล่ ๆ กันกับคนทรงเจ้า เรื่องคนจนเป็นนิยายเรื่องเดียวที่นำชีวิตตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นเยอะมากเลย ส่วนคนทรงเจ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อที่เป็นเสาหลักของสังคมไทยเราเป็นการสะท้อนความเชื่อในสังคม ส่วนเรื่องอมตะผมสนุกกับการมองโลกที่ช่วงนั้นที่มีข่าวเกี่ยวกับการโคลนมนุษย์ วิทยาศาสตร์มันมีกระหายใคร่ที่จะทำโน่นทำนี่เพื่อชื่อเสียง หรือเพื่อเงินซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันกันแต่ในที่สุดไม่ว่าเราจะแข่งขันกันอย่างไรที่สุดก็คือการนำมารับใช้มนุษย์ ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามจะโคลนมนุษย์กันอยู่แม้จะล้มเหลว แต่ผมว่าสักวันหนึ่งก็ต้องทำสำเร็จเข้าจนได้ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของมนุษย์

ประเด็นที่ผมเขียนในเรื่องอมตะผมไม่ได้คิดว่ามันจะล้มเหลวหรือว่าประสบความสำเร็จหรอก แต่กำลังมองอยู่ว่าการที่มนุษย์เราพยายามที่จะไม่ตายพยายามทำโคลนเพื่อที่จะต่ออายุตัวเอง หรือเปลี่ยนถ่ายอวัยวะก็ตามก็เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป มีชีวิตอยู่ให้ยาวนานที่สุดยืนยาวที่สุดก็เป็นอมตะนี่คือปรัชญาของตะวันตก แต่ในปรัชญาของตะวันออกการเป็นอมตะคือการฝึกฝนทางด้านจิตใจ "

หลังจากนวนิยายอมตะได้รับรางวัลซีไรต์ วิมล ไทรนิ่มนวลก็เหมือนได้รับการโคลนนิ่งกลับขึ้นมาเป็นวิมล ไทรนิ่มนวล อีกครั้ง เพราะอมตะทำให้เขาเป็นที่สนใจแก่นักอ่านขึ้นมาอีกครั้งโดยเฉพาะนักอ่านรุ่นหลัง ๆ ที่อาจไม่เคย หรือไม่คุ้นกับชื่อของเขานัก

"ผมอยากเขียนอมตะในภาคสองและภาคสาม เพราะว่าว่างโครงเรื่องไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมีถึงสามภาคด้วยกัน แต่ก็ไม่อยากให้ใครมาครหาว่าหากินกับรางวัลซีไรต์ ที่สำคัญมีเรื่องอื่นที่อยากเขียนมากกว่าผมก็เลยปล่อย ๆ ไป งานเขียนที่เขียนต่อจากอมตะ ผมก็เขียนอัตชีวประวัติขึ้นมาเล่มหนึ่งคือเรื่อง วิญญาณแห่งสายลมพัดพาฉันมา เล่มนี้ปกไม่สวยหรืออย่างไรไม่รู้ทำให้หนังสือขายไม่ค่อยดี จะมีคนเห็นหนังสือเล่มนี้ประมาณเจ็ดถึงแปดร้อยคนเท่านั้น ที่ต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าหลังจากที่อมตะได้รับรางวัล ก็กลายเป็นหนังสือหนึ่งในร้อยเล่มที่เยาวชนควรอ่านทำให้ผมถูกรับเชิญให้ไปพูดให้นักเรียนฟังตามต่างจังหวัด ทำให้บางครั้งเหนื่อยมาก ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เผื่อว่าถ้าใครอยากรู้ประวัติก็อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ได้ ซึ่งผมเขียนตั้งแต่ผมเริ่มวัยเด็กจนกระทั้งมาเขียนหนังสือ มีนวนิยายเกิดขึ้นหลายเล่มจนมีคนรู้จัก

ต่อจากอัตชีวประวัติผมก็เขียนเรื่องสั้นขึ้นมาชุดหนึ่งผมให้ชื่อว่า อิสรภาพและการจองจำ พิมพ์ปี 2546 และในปีเดียวกันผมก็มีนวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุด คือเรื่อง ความฝันของผีเสื้อ สำหรับปีนี้ผมยังไม่ได้เขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเลย (หัวเราะ) เนื่องจากมีเรื่องสัพเพเหระเข้ามาทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิที่จะเขียน แต่ก็พล็อต อยู่หลายเรื่อง "

ปัจจุบันวิมล ไทรนิ่มนวลผลันชีวิตตัวเองออกจากกรุงเทพมหานครหันไปใช้ชีวิตสันโดดแฝงฝั้งตัวเองอยู่กับชาวบ้านและธรรมชาติ ปลูกกล้วยไว้กินเป็นอาหารและเก็บสุนัขจากที่ต่าง ๆ มาเลี้ยงอยู่ด้วยกันอย่างฉันมิตร การหลีกหนีตัวเองไปอยู่ต่างจังหวัดกำแพงเพชรก็เพื่อสร้างสรรค์เขียนหนังสือแม้เขาจะคิดว่า - นับวันจะมีคนอ่านหนังสือในแนวที่เขาเขียนน้อยลงไปทุกขณะ

"การที่คนเขาไม่ซื้องานผมอ่านอย่างที่หนึ่งก็คือว่า - คนอ่านทั่ว ๆ ไปเข้าใจว่างานผมส่วนใหญ่เป็นชีวิตเกี่ยวกับชนบท เรื่องบ้านนอกเนี่ย คนรุ่นใหม่ ๆเขาไม่อ่านหรอกเพราะเขาจะรู้สึกว่ามันเชย เนื่องจากคนไปติดกับงานช่วงแรกคือเรื่องงู คนทรงเจ้า คนอ่านติดภาพตรงนี้ของผมอยู่ อีกอย่างหนึ่งงานผมไม่ค่อยป๊อปปูล่า นักวิจารณ์หรือคอลัมนิสต์ เขาก็ไม่ค่อยพูดถึงงานผม แต่บางคนก็ตามถล่มตามเหยียบตามย่ำมาตลอดก็มีเหมือนกันตั้งแต่อมตะมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นผมก็ไม่เข้าใจ อาจเป็นเพราะตัวของผมเองด้วยคือผมไม่ค่อยจะประชาสัมพันธ์งานสักเท่าไร ทำให้งานของผมเงียบ ๆ ไป

เรื่องที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ชื่อเรื่อง จอมอสรพิษ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกามารมณ์ ก็จะมีฉากโป๊เยอะหน่อย ผมคิดว่าจะส่งไปลงนิตยสารเป็นตอน ๆ ก่อนที่จะพิมพ์รวมเล่ม ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะว่าถ้าเขียนเสร็จแล้วพิมพ์รวมเล่มเลยผมคงอดตายอย่างสองสามเล่มที่ผ่านมา..."

แม้ว่าวิมล จะเป็นนักเขียนระดับชั้นแนวหน้าหากในวิถีการทำงานที่อยู่ท่ามกลางความนิยมของคนอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไป แต่เขาเองก็ไม่เคยย่อท้อต่อการสร้างสรรค์งานในแนวทางที่เป็นเนื้อแท้ของเขา "คนอ่านหนังสือเปลี่ยนแล้วผมเองก็เปลี่ยนไม่ทัน แต่ผมก็ไม่อยากจะเปลี่ยนด้วย เพราะว่าบางทีเนื้อหาเราไม่ควรจะเปลี่ยนขนาดนั้น คือบุคลิกเราเป็นอย่างนี้ เนื้อเรื่องที่เราคิดก็ไม่ควรจะเปลี่ยนให้มันหวือหวาไปมากนักอย่างเรื่องที่มีขายกันอยู่ตามท้องตลาด ผมว่าเปลี่ยนก็คงเปลี่ยนได้บ้าง แต่จะให้เปลี่ยนแบบวูบวาบเลยก็ไม่ใช่บุคลิกของเรา เราก็ต้องทำงานที่เหมาะกับตัวเรา ส่วนคนอ่านจะรับหรือไม่รับก็คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องบุญ กรรม วาสนาไปก็แล้วกัน(หัวเราะ)"

ณ ปัจจุบัน การเลือกอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่ม ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะตามท้องตลาดขณะนี้การตลาดมักจะนำแนวเรื่องของหนังสือไปเสียแล้ว จึงมีแต่ภาพลวงตาหากเปิด เนื้อในเราก็จะเจอแต่ความกลวงที่หาสาระมีไม่ ก็ได้แต่หวังว่า - นักเขียนคุณภาพอย่างคุณวิมล ไทรนิ่มนวล จะมีผลงานดี ๆ ออกมาให้นักอ่านตัวจริงได้มีทางเลือกบ้าง....

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ