บินหลา สันกาลาคีรี : นักเขียน GUEST WRITER

บินหลา สันกาลาคีรี

ขามีชื่อเป็นนก นามสกุลเป็นภูเขา เกิดที่ภาคใต้แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ภาคเหนือเรียนนิเทศน์ จุฬาฯ ไม่จบ แต่ทำงานหนังสือมาตลอด เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ และเป็นนักเขียนเต็มเวลา บินหลา สันกาลาคีรีเขียนเรื่องสั้น นิยาย วรรณกรรมเยาวชน และสารดคีท่องเที่ยว เรื่องราวส่วนใหญ่ของเขาเป็นเรื่องที่เก็บเกี่ยวจากการเดินทาง(หลายครั้งมีจักรยานเป็นพาหนะ) แต่เขาปฏิเสธแข็งขันว่าไม่ได้เป็นนักเดินทาง ด้วยความที่อยู่ไม่เป็นที่เขาจึงนิยามตนเองว่าเป็น Guest writer นักเขียนผู้มีนิวาสสถานเป็น Guesthouse นี่คือหมวดหมู่ใหม่ของนักเขียนที่เราน่าจะไปทำความรู้จักกัน

นาทีนี้ทำอะไรอยู่ครับ
เพิ่งเขียนนิยายเรื่องใหม่เสร็จใช้เวลาประมาณ 7 เดือน เป็นงานเขียนที่ใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะส่วนใหญ่ใช้เวลา 1 ปี เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อแผ่นดินของตัวเอง เก็บข้อมูลไม่นาน มีความรักเป็นตัวดำเนินเรื่อง เรื่องไม่สลับซับซ้อน

ได้ข่าวว่าไปเขียนบทหนังด้วย
ทุกวันนี้ก็ยังเขียนบทหนัง งานเขียนทุกอย่างเป็นแบบฝึกหัด เป็นรูปแบบในการแสดงออก ผมยังไม่ค่อยมั่นใจในตนเองว่าชำนาญพอหรือเปล่า จึงอยากทดลองดูทุกอย่างที่โอกาสเปิด

มีความสุขกับการเขียนบทหนังหรือไม่
นาทีนี้ผมสนุกกับมัน ผมรู้สึกว่าเป็นการฝึกฝีมือที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง เป้าหมายโดยรวมแล้วก็ทำให้งานเขียนของผมน่าจะพัฒนา ผมว่าผมก็คงไม่ได้ทำกับมันนาน เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

ไม่เขียนบทหนังแล้วจะเขียนอะไร
นิยาย มันเป็นการทำงานของความคิด แล้วเราก็เลือกรูปแบบการนำเสนอ ตั้งใจว่าภายใน 2 ปีนี้ผมคงไม่ทำอย่างอื่นนอกจากนิยาย เวลามีความคิดสิ่งใดขึ้นมาก็จะมองหาแต่รูปแบบนิยายมาถ่ายทอดความคิดนั้น

คุณเข้าสู่วงการหนังสือได้อย่างไร
ผมเชื่อมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากจะเป็นนักข่าว ผมเขียนเรื่องสั้นมาตั้งแต่สมัยมัธยม แต่เรื่องสั้นได้ตีพิมพ์ครั้งแรกตอนปี 1 พ.ศ 2527 ก็ค่อนข้างจะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีให้เกิดความเชื่อมั่นว่าน่าจะเขียนหนังสือได้ เป็นความเข้าใจผิดไปเอง เพราะกว่าที่ผมจะได้เขียนหนังสือจริงๆก็หลายปีต่อมา เรื่องสั้นเรื่องแรกของผมรวมเล่มปี 2533 ประมาณ 7 ปีหลังจากเขียนหนังสือ ขณะนั้นเป็นนักข่าว เริ่มถามตนเองว่าอยากเป็นนักข่าวหรือนักเขียนกันแน่ เพราะนักเขียนกับนักข่าวจะไปคนละทาง แม้จะใช้ปากกาเหมือนกัน นักข่าวเป็นคนนำเสนอความจริงที่ถูกคนอื่นสร้างขึ้นในนาทีนั้น ไม่สามารถกำหนดการเสนอเองได้ ผู้อื่นเป็นคนกำหนด สำหรับนักเขียนนำเสนอความจริงที่เรากำหนด อาจจะเป็นความจริงเมื่อ 5 ปีที่แล้วหรือ 10 ปีที่แล้ว หรือ 50 ปีข้างหน้า ที่เรานำมาเสนอในวันนี้ ความจริงของผมไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นสัจจะ เป็นกระบวนการคิดที่ต้องจริง สมมติถามว่านิยายวิทยาศาตร์เป็นความจริงไหม ผมว่าจริง เรื่องพ้อฝันนั้นไม่จริงแต่เรื่องจินตนาการน่ะจริง เส้นแบ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อนแต่ที่สุดแล้วนักเขียนจะเป็นผู้นำเสนอความจริงออกมาไม่ใช่ส่วนเพ้อฝัน

ทราบว่าเคยทำหน้าที่บรรณาธิการให้กับนิตยสารไปยาลใหญ่ด้วย
ผมเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการมากกว่า ทำหน้าที่ให้หนังสือเล่มหนึ่งออกตามวาระของมัน ไม่ใช่ทำหน้าบรรณาธิการต้นฉบับ จริงๆผมก็อยากทำตรงนั้นด้วย เพราะผมว่ามันก็เป็นกระบวนการที่จะสร้างนักเขียนคนหนึ่งขึ้นมา ผมอยากเป็นนักเขียน แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่คิดกลับมาเป็นนักข่าวนะ เนื่องจากผมชัดเจนว่ามันต่างกันยังไง ผมก็พร้อมที่จะยืนอยู่ตรงไหนก็ได้ เมื่อเป็นนักข่าวแล้วผมก็ยังอยากเป็นนักเขียนอยู่ดี เป็นนักข่าวในช่วงระยะเวลาสั้นๆในช่วงที่ผมอยากเป็น เหมือนชีวิตที่เราเลือกได้ว่าเราจะอยู่ตรงไหน และอยู่นานแค่ไหน ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ปลูกบ้าน เพราะกลัวว่าจะต้องอยู่กับตรงนั้นนานเกินไป มีภาระต้องผ่อน ต้องอดทนกับสิ่งที่แวดล้อมนานเกินไป การที่ผมเช่าบ้านอยู่ผมเปลี่ยนแปลงตนเองง่ายกว่า

นอกจากเขียนหนังสือแล้วคุณทำอะไรอยู่บ้าง
เหมือนเดิม ยังถ่ายรูปเล่น ยังหาเวลาไปขี่จักรยานทางไกล 2 ปีครั้ง มีชีวิตปรกติ กินเหล้า

ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน
เชียงใหม่

ผู้อ่านจะได้อ่านเรื่องท่องเที่ยวของบินหลาอีกไหม
ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรู้สึก ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผมเที่ยวเยอะ แต่ไม่อยากเขียนเลย นิตยสารขอเรื่องมาผมก็ได้แต่ขอโทษ แล้วปฏิเสธไป ผมไม่สนุกที่จะเขียน แต่คิดว่าจะต้องสนุกขึ้นมาสักวันหนึ่งเมื่อความคิดเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าผมเขียนออกมาตอนนี้ผมคิดว่ามันไม่ต่างกับที่ผมเขียนไปแล้ว แม้สถานที่จะต่างแต่ตัวตนของผมไม่ต่าง อยากรอให้เวลาทำให้มุมคิดของผมเปลี่ยนไป ถึงตอนนั้นผมคงอยากเขียนขึ้นมาบ้าง

แล้วเรื่องสั้นล่ะ
เรื่องสั้นผมเพิ่งออกมาเมื่อปี 47 เรื่องเจ้าหงิญ ผมว่าโอเค ผมไม่ได้เขียนเรื่องสั้นเร็ว ประมาณ 4-5 ปีต่อเล่ม ตอนนี้ก็เตรียมเรื่องสั้นไว้ชุดหนึ่งแต่ยังไม่ได้เขียน คงต้องรอให้มันสุกงอมเต็มที่ก่อนจะออกมา

มีการวางแผนล่วงหน้าเป็นปีๆไหมว่าจะทำอะไร
ไม่ได้วางแผนหรอก สมมติผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียน ผมก็รู้ว่าอยากเขียนอะไร หลังจากนั้นจะมีคำถามเยอะเช่นว่าจะเขียนยังไง รายละเอียดมีเพียงพอหรือเปล่า กระบวนการต่อมาคือกระบวนการผลิตซึ่งจะกินเวลานานมาก เช่น เรื่องเพลงพญาเหยี่ยวสำเร็จออกมาความยาวน่าจะ 500 หน้า แต่จุดกำเนิดของมัน ผมต้องการเขียนเป็นเรื่องสั้น เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมชอบความคิดนี้ ผมอยากเขียนเป็นเรื่องสั้น แล้วก็พบว่ามันไม่สนุก ถ้าให้สนุกน่าจะเป็นเรื่องสั้น 2 เรื่อง แล้วผมก็ทำให้เป็นเรื่องสั้น 2 เรื่อง พบว่ามันไม่สนุกอีก ถ้าให้สนุกต้องเป็นนิยายมันก็เดินทางของมันไป ผมก็ทำในส่วนที่ผมต้องทำ เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอวิธีการก็ต้องเปลี่ยน ต้องหาข้อมูลให้มากขึ้น ประเด็นต้องแตกขยาย อย่างไรก็ตามมันก็ต้องอยู่บนแก่นเดิม จาก 5 หน้าเป็น 5 ร้อยหน้า

นักเขียนควรจะตั้งกำหนดเวลาการผลิดผลงานของตัวเองไหม
ควรจะตั้งอย่างมาก เพราะผมไม่มีอาชีพอย่างอื่น นอกจากการเขียนหนังสืออย่างเดียว ถ้าหนังสือไม่จบก็ไม่มีรายได้ แล้วผมก็มักทำไม่ได้ตามที่ตั้งเอาไว้ แต่ระยะหลังก็ใกล้เคียงมากขึ้น เป็นแนวโน้มที่ดี

ชีวิตนักเขียนยากไหม
ผมว่ายากมาก เพราะมันมีส่วนขัดแย้งกับชีวิตปรกติของมนุษย์มากเกินไป โก้วเล้งเคยพูดทำนองว่าขณะที่นักเขียนเฮฮากับเพื่อนฝูง นักเขียนก็ต้องการเวลาโดดเดี่ยวเพื่อรีดเค้นจินตนาการออกมา มันยากมากที่ทั้ง 2 อย่างจะอยู่ในมนุษย์คนเดียวกัน นี่เพียงแค่ส่วนเดียวไม่นับเรื่องการมีรายได้ยังชีพ หรือการต้องอดทนจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ประสบความสำเร็จของบินหลาเป็นอย่างไร
โดยภายในนักเขียนทุกคนรู้ว่าตนเองทำงานได้อย่างที่ใจคิดหรือไม่ มือกับสมองไปด้วยกันหรือยัง ภายนอกนักเขียนได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง มีงานตีพิมพ์ ผู้อ่านซื้ออ่าน นักเขียนไม่ต้องกระเสือกกระสนต่อชีวิตรายวันมากเกินไป

ใช้เวลาหลายปีไหมกว่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ
ผมว่าไม่เกี่ยวกับระยะเวลาแต่เกี่ยวกับชิ้นงาน ผมเองเขียนหนังสือมาร่วม 20 ปียังไม่รู้สึกว่าตนเองไปถึงจุดนั้น

ผลงานของตัวเองมีเล่มไหนที่ชอบมากๆครับ
ไม่มี ส่วนใหญ่เมื่อมาอ่านย้อนหลังแล้วพบข้อบกพร่อง รู้สึกเสียดายว่าทำไมบางจุดถึงปล่อยให้ออกมาได้โดยไม่แก้ไข ขณะที่พิมพ์ผมพอใจ แต่เมื่อเราโตขึ้นมาก็จะเห็นจุดบกพร่อง

เขียนหนังสือทีละหลายๆเรื่องพร้อมกันไหม
ไม่ ผมเขียนนิยายทีละ 2 เรื่องพร้อมกันไม่ได้ แต่เวลาผมเหนื่อยจากการเขียนนิยายผมก็แวะไปเขียนเรื่องสั้น

แล้วบทกวีล่ะ
ผมไม่ได้เขียนบทกวีนานมากแล้ว ผมรู้สึกว่าผมคงอยากเขียนบทกวีพร้อมๆกับเขียนเรื่องท่องเที่ยว เพราะจิตใจด้านนี้เป็นส่วนประกอบที่คล้ายกัน

คุณทำงานตามความรู้สึกข้างในใช่ไหม
ทุกครั้งที่ผมมองชีวิต หรือเมื่อต้องการอธิบายตนเอง ผมรู้สึกว่าชีวิตมันมีฤดูกาล ต้นไม่ไม่ได้เติบโตในฤดูฝนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เติบโตเพราะความแห้งแล้งในฤดูแล้งด้วย ฤดูฝนทำให้ต้นไม้เติบใหญ่และงาม แต่ฤดูแล้งทำให้ต้นไม้แกร่ง มันถูกบีบรัด ถูกทดสอบ มันต้องทนกับภาวะใดภาวะหนึ่งทุกครั้งไป ผมว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้ ช่วงหน้าฝนมนุษย์ถูกสั่งให้เข้าพรรษา เพราะการเดินทางไม่สะดวก ขณะเดียวกันก็เป็นฤดูการออกพรรษาของพืชผัก เพราะโลกไม่ได้เปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตทุกอย่างดำเนินไปพร้อมๆกัน เราหยุดตัวเอง ต้นไม้เติบโต และเมื่อถึงเวลาหนึ่งเราเติบโต ต้นไม้หยุดตัวเอง มันถึงอยู่กันได้ ไม่เชิงว่าทำงานตามอำเภอใจหรอก เพียงแต่มันเป็นฤดูอย่างนี้ในใจ ผมหยุดบางอย่างได้ และทำบางอย่างที่ควรทำกับฤดูนี้แทน

อยากให้มีหน่วยงานมาช่วยสนับสนุนการทำงานของศิลปินไหม
เคยมีคนถามผมว่าทำไมรัฐถึงต้องช่วยเหลือชาวนาเวลาราคาข้าวตก ทั้งๆที่เวลาราคาข้าวสูง ชาวนาก็ไม่เอาเงินมาคืน ผมว่าต้องช่วยนะเพราะอย่างแรกมนุษย์เกิดมามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น นักเขียนสมควรถูกช่วยในแง่ที่เป็นมนุษย์ อย่างหนึ่งคือมนุษย์สมควรถูกช่วยหลังจากประสบภาวะที่ไม่สามารถยืนด้วยตัวเองได้ ผมว่ามีก็ดี แต่ไม่จำเป็นต้องไปช่วยเหลือนักเขียนทุกคน คุณคอยดูว่าใครต้องการความช่วยเหลือ หรือสมควรถูกช่วย แต่การช่วยเหลือของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยกย่อง ที่ผมยากเห็นคือการเห็นคุณค่าของงานมากกว่าการเข้าไปช่วยเพราะนักเขียนมีรายได้น้อย ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่สารัตถะ คุณเลือกเข้ามาเป็นนักเขียนคุณก็รู้อยู่แล้วว่ารายได้จะน้อย สารัตถะคือนักเขียนคนนั้นเขียนในสิ่งที่โลกสมควรเรียนรู้หรือเปล่า งานเขียนไม่ใช่ลำไยในท้องตลาดที่จะเข้าไปแทรกแทรงช่วยเหลือ

สุดท้ายมีสิ่งใดฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่หรือไม่
ไม่ เพราะผมก็รู้สึกว่าผมเป็นนักเขียนรุ่นใหม่เหมือนกัน ..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ