วาด รวี : ผมวางมือจากสำนักหนังสือใต้ดินแล้ว

วาด รวี

สมัยเรียนบริหารธุรกิจ สาขาการเงินการธนาคาร ที่เอแบ็ค วาด รวีให้เวลาการทำกิจกรรมมากกว่าเรียนหนังสือ เขาทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมีข้อมูลมากเข้า ก็เริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง และมันก็ไปกันไม่ได้กับสิ่งที่เรียน ความคิดเห็นแย้งกับสิ่งที่เรียนไปหมด จึงเรียนไม่จบสักที เมื่อขึ้นชั้นปี 4-5 เขาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เป็นผู้ช่วยช่างภาพที่สตูดิโอแห่งหนึ่ง และรับจ็อบถ่ายรูป แต่ทำได้ไม่นานก็ถูกเชิญให้ออก วาด รวีเริ่มเขียนหนังสือ เพราะรู้สึกอยากเขียนหนังสือ เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้น โชคดีที่เขาต่อสู้เรื่องนี้ไม่เยอะ เรื่องแรกที่ส่งไปก็ได้ตีพิมพ์ที่ช่อการะเกด บรรณาธิการคือสุชาติ สวัสดิ์ศรี หลังจากผลงานได้รับการตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง ทำให้เขามั่นใจว่าสามารถเขียนหนังสือได้ จึงตัดสินใจไม่เรียน เขียนหนังสืออย่างเดียว เขาทำงานเรื่องสั้นเป็นหลัก เขียนบทกวีบ้าง ความเรียงบ้าง เป็นนักเขียนอิสระ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เร่ร่อนไปเรื่อย มีผลงานตีพิมพ์ตามนิตยสารสม่ำเสมอ จนกระทั่งเขียนไปได้ 4 ปี จึงเกิดความคิดที่จะรวมเล่ม

เขาไม่เคยทำหนังสือมาก่อนจึง เข้าไปปรึกษากับเวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งมีนักเขียนหรือกวีเข้าไปปรึกษาเรื่องการทำหนังสืออยู่เสมอ เวียง-วชิระจึงตั้งสำนักหนังสือใต้ดินขึ้นมา พิมพ์งานเล่มแรกคือนกเชิงภูเขาหลวง ของธัช ธาดา ตอนนั้นเป็นช่วงฟองสบู่แตก หลังฟองสบู่แตกเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดหนังสือย่ำแย่ สำนักพิมพ์ถอยกันหมด ไม่พิมพ์งานออกมาง่ายๆ วรรณกรรมยิ่งไม่มีใครกล้าพิมพ์ ดังนั้น นักเขียนจึงต้องพิมพ์กันเอง และวาด รวีก็จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในนามสำนักหนังสือใต้ดิน

@ ทำไมต้องสำนักหนังสือใต้ดิน
ก็ตั้งมาอย่างนั้น เข้าใจว่า เป็นเรื่องระหว่างคุณธัช ธาดากับคุณเวียงตอนที่เริ่มตั้ง แต่ว่าช่วงนั้นคือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คุณเวียงก็เขียนประกาศสำนักพิมพ์ไว้ว่า ฟองสบู่แตก เพราะนักเก็งกำไร ทุนนิยม คล้ายสำนักหนังสือใต้ดินตั้งขึ้นสำหรับนักเขียนที่ต้องการต่อสู้กับความเป็นระบบทุน ในธุรกิจหนังสือเล่ม และเอาดาวบนหมวกเช เกวารามาตั้งเป็นโลโก้สำนักพิมพ์ สำนักหนังสือนี้เป็นแหล่งของนักเขียนมาพิมพ์งานเอง ผมก็ยึดจากตรงนั้นและทำต่อมา เป็นกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ที่มาทำหนังสือเอง ต่อสู้ในเรื่องวรรณกรรม เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเรื่องของธุรกิจหนังสือ วรรณกรรมจะตาย เราต้องต่อสู้

@ คุณมีบทบาทอะไรบ้างในสำนักหนังสือใต้ดิน
ผมก็จัดกิจกรรม กิจกรรมครั้งแรกจัดงาน “ทางเลือกทางรอดของวรรณกรรมนอกกระแส” ที่รามคำแหง ก็จุดประเด็นวรรณกรรมนอกกระแสขึ้นมา หมายถึง วรรณกรรมที่ไม่เป็นที่นิยมอ่านของคนส่วนใหญ่ ซึ่งจริง ๆ เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์เกือบทั้งหมด พอผมพิมพ์หนังสือของตัวเองผมรู้แล้วว่ายอดขายมันเป็นยังไง ผมไปเช็คดูหนังสือประเภทเดียวกับเรา พวกเรื่องสั้น บทกวี นิยาย วรรณกรรมที่เป็นแบบเดียวกับเรา ยอดขายเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฎว่าไม่ไช่เราคนเดียว มันเป็นกันทั้งวงการ ขายไม่ได้เหมือนกันหมด ก็เลยจัดกิจกรรมมาคุยกันว่า ทำไมถึงขายไม่ได้ ผมก็เชิญคุณเรืองเดช จันทรคีรี ซึ่งเคยทำช่อการะเกด, ถนนหนังสือ ตอนนี้แกทำรหัสคดี เชิญคุณจตุพล บุญพลัดหรือคุณชีวี ชีวาที่เป็นบรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ เชิญคุณวชิระ บัวสนธ์ ,คุณรักษ์ มนันยา ตอนนั้นเป็นบรรณาธิการดอกหญ้า เชิญบรรณาธิการที่ทำงานวรรณกรรมเห็น ๆ อยู่ 4 คนมาพูดคุยให้เราฟังว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไรทำไมขายไม่ได้

@ได้คำตอบว่ายังไง
คุยกันก็ได้รู้ว่าพยายามกันอยู่ แต่ก็ขายไม่ได้จริง ๆ บรรณาธิการแต่ละคนก็พยายามต่อสู้ เขาก็เล่าประสบการณ์ให้ฟัง แต่ทำไมขายไม่ได้ ยังไม่ได้คำตอบ แต่อย่างน้อยก็ได้คุยกัน ได้ฟังคนที่เขาทำหนังสือมาก่อนเรา งานนั้นมีนักเขียนรุ่นใหม่ไปกันมาก นั่นคือครั้งแรก งานนี้จะมีทั้งหมด 3 ครั้ง นอกนั้นจะเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะอื่น และเป็นการพิมพ์หนังสือ

@คุณเป็นเจ้าสำนักหนังสือใต้ดินใช่ไหม
มีบางคนเรียกผมอย่างนั้น แต่เวลานี้ผมวางมือจากสำนักหนังสือใต้ดินไปแล้ว ผมมาทำสำนักพิมพ์ไชน์ (Shine) เป็นสำนักพิมพ์ส่วนตัว คือ สำนักหนังสือใต้ดิน คงต้องเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่แล้ว ก็เริ่มมีคนรุ่นหลังเข้ามาทำ เพราะฉะนั้นเวลานี้สำนักหนังสือใต้ดินก็จะไม่ใช่ผมแล้ว ถ้าเขาทำมีผลงานออกมาก็จะเห็นว่าใคร เป็นคนรุ่นใหม่แล้ว เวลานี้ผมจะเป็นนักเขียน และคนทำสำนักพิมพ์ปกติธรรมดา

@แนวคิดของสำนักพิมพ์ไชน์เป็นยังไง
ก็พิมพ์หนังสือตามรสนิยมของเรา เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมาตอนผมทำสำนักหนังสือใต้ดิน คือ เราพิมพ์โดยที่คิดว่าเป็นการเคลื่อนไหว เป็นกิจกรรม คือ เราไม่ได้มองในแง่ธุรกิจใดใดทั้งสิ้น แต่ว่าสำนักพิมพ์ไชน์ผมตั้งใจจะให้เป็นสำนักพิมพ์อาชีพ ดำเนินธุรกิจปกติ แต่ว่าพิมพ์หนังสือตามรสนิยมเรา เพราะฉะนั้นมันต้องอยู่ในเงื่อนไขของโลกธุรกิจที่เป็นจริง มันจะไม่ใช่การต่อสู้แบบสำนักหนังสือใต้ดิน สำนักหนังสือใต้ดินจะพิมพ์หนังสือไม่มาก เป็นลักษณะเน้นไปที่กิจกรรม ไม่ได้มุ่งเน้นให้เป็นสำนักพิมพ์ เพราะสำนักหนังสือใต้ดินไม่ใช่สำนักพิมพ์ จริง ๆ แล้วคือ กลุ่มกิจกรรมของนักเขียน แต่มันพิมพ์หนังสือด้วย

@สำนักหนังสือใต้ดินมีวิธีการผลัดเปลี่ยนคนยังไง
ตอนเราทำสำนักหนังสือใต้ดินเราก็มาเอง เราอาสาเข้ามาทำเอง เพราะว่าเราเป็นนักเขียนหนุ่มอยู่ เรามีแรง เรามีไฟ คนที่จะมาทำหนังสือใต้ดินก็จะเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องของนักเขียนรุ่นใหม่ ที่เขามีไฟที่จะเข้ามาทำเอง ซึ่งเขาคงมาเหมือนสมัยที่เรามา

@ตอนนี้สำนักหนังสือใต้ดินมีสมาชิกเท่าไหร่
มันไม่เป็นสมาชิก คนทำจริง ๆ ไม่กี่คน แต่อาจจะมีแนวร่วม จะมีเพื่อน พรรคพวกจะเป็นเพื่อนกันหมด วงวรรณกรรมเล็ก ๆ ก็รู้จักกันหมด แต่ตัวหลัก ๆ ที่ทำมีไม่กี่คน สมัยผมมีผม สมัยใหม่ก็จะมีขึ้นมาอีก ก็เป็นรุ่นใหม่ ถ้าเขามีบทบาทขึ้นมาก็ได้เห็นกันเอง

@ยังบอกไม่ได้หรือ
ต้องเห็นกันเอง

@ถึงวันนี้แล้วคิดว่าวรรณกรรมทางเลือกมีทางรอดหรือไม่
สำนักพิมพ์ที่พิมพ์แต่วรรณกรรมอย่างเดียวจะอยู่ยาก วรรณกรรมไม่สามารถทำให้เป็นธุรกิจได้ วรรณกรรมในซีกนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามันไม่กว้างเท่าที่ควร แต่มันเริ่มจะกว้างแล้ว โดยตัวมันอยู่รอดเองยาก มันต้องผสมผสาน คือ สำนักพิมพ์ที่จะอยู่รอดต้องผสมผสาน ไม่ใช่พิมพ์แต่วรรณกรรมอย่างเดียว ที่นี้ถามว่าวรรณกรรมแบบนี้รอดหรือไม่ คือ เวลานี้ก็ยังไม่ตาย ผมคิดว่ามันคงมีหนทางของมัน ถ้าเกิดว่ายังมีคนที่สืบทอดกันต่อมา เพียงแต่มันแคบลงหรือมันขยายออกไป แต่ว่าตายยังคงไม่ตาย แต่ว่ารอดแบบไหน ปัญหามันจะอยู่ตรงนั้น ผมเชื่อว่ายังมีคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในซีกของวรรณกรรมสร้างสรรค์แบบนี้ แต่ปัญหาคือ มันจะค่อย ๆ แคบลง หรือมันจะอยู่แค่นี้ หรือว่ามันจะขยายตัวออกไป

@ถึงวันนี้วรรณกรรมยังพูดถึงความยากจนแร้นแค้นหรือว่าผู้ใช้แรงงานหรือเปล่า
ผมอยากจะแยกอย่างนี้ วรรณกรรมสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทุกแบบทุกประเภทที่จะมาพูดถึงความยากจน คือ ขึ้นชื่อว่าวรรณกรรม มันเป็นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของคนในแง่มุมหนึ่งมุมใดก็แล้วแต่ มันหลีกไม่พ้นเรื่องของมนุษย์ ความเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ ผมคิดว่ามันหลากหลาย วรรณกรรมที่มุ่งเน้นไปที่ความได้เปรียบเสียเปรียบของคน หรือความยากจนก็เป็นประเภทหนึ่ง ไม่ใช่วรรณกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด

แต่วรรณกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมดมันจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หมายความว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์จะอยู่ด้วยกัน คนอ่านก็จะอ่านวรรณกรรมทั้งหมด คนที่ชอบวรรณกรรมแบบ เงาสีขาว ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่ง เป็นกระแสสำนึก ก็ยังชอบ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว ของมาร์เกซ ซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่ง แล้วก็ยังอาจจะชอบ สงครามและสันติภาพ ของตอลสตอยด้วย ซึ่งก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นวรรณกรรมสร้างสรรค์มันกว้าง มันหลากหลายมาก ถ้าบอกว่ามันเป็นเรื่องของความยากจนคงไม่ใช่

ความยากจนที่มาที่ไปมันคงผูกอยู่กับเรื่องความเป็นไปในสังคม วรรณกรรมที่พูดถึงความยากจนหมายถึงวรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือเปล่า ซึ่งวรรณกรรมเพื่อชีวิตของเรามันก็เติบโตมาพร้อมกับเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคหนึ่ง ซึ่งยุคสมัยนั้นความเป็นไปทั้งโลกก็เกี่ยวโยงกัน มีคอมมิวนิสต์ มีเสรีนิยม มีอเมริกา มีรัสเซีย วรรณกรรมเพื่อชีวิตของเราได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมที่เรียกว่า โซเชียลลิสท์ เรียลลิสซึม (socialist realism) ก็คือ อัตถสังคมนิยม เป็นวรรณกรรมที่พูดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ การกดขี่ขูดรีดในสังคม คือ พูดถึงคนที่ถูกเอาเปรียบ พูดถึงการกดขี่ขูดรีด

ถ้าถามผมว่าเชยหรือไม่ ผมมองว่า การพูดถึงความยากจน หรือการกดขี่ขูดรีดมันไม่เชย เพราะเหตุว่า- ผมถามว่าทุกวันนี้มีการกดขี่ขูดรีดหรือไม่ในสังคม ถ้าตราบใดที่มันยังมีความเป็นจริงอยู่ในสังคม มันไม่มีทางเชย แต่ถามว่า มันจะเชยเพราะอะไร ผมว่ามันเชยเพราะมุมมอง มันเชยเพราะวิธีการ มันเชยเพราะรูปแบบ คือ ถ้าเกิดว่าการกดขี่ขูดรีดมันพัฒนา มันซับซ้อนขึ้นแล้วเราพูดด้วยสายตาแบบเดิม มันย่อมจะเชยแน่ เพราะเราไม่เท่าทันสังคม ไม่เท่าทันความเป็นไป ไม่เท่าทันการกดขี่ขูดรีดในสังคม ซึ่งมันซับซ้อนขึ้น ที่มองว่ามันเชยเพราะยังไม่มีคนคิดก้าวหน้า และตีแผ่เปิดโปงการขูดรีดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันออกมาได้ ถึงดูเชย เด็กที่ถูกบังคับใช้แรงงานมาขอทาน ถ้าเกิดยังมีสิ่งเหล่านี้ในสังคม ยังร่วมสมัย ยังไม่ล้าสมัย เพราะเหตุมันยังร่วมเวลากับเราอยู่ ณ เวลานี้

@วรรณกรรมสร้างสรรค์เป็นเรื่องอีโรติกได้หรือไม่
ได้ นักเขียนอีโรติกดัง ๆ เช่น- อย่างเรื่อง เซี่ยงไฮ้เบบี้ นับเป็นอีโรติกหรือเปล่า เฮนรี่ มิลเลอร์ก็เป็นนักเขียนที่โดดเด่นคนหนึ่ง ตายไปแล้ว ยุคเดียวกับพวกอนาอีส นิน คำว่า สร้างสรรค์มันกว้างมาก อีโรติกก็เป็นอารมณ์หนึ่งของมนุษย์ เป็นความจริงหนึ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ แต่ว่า เขียนแบบไหน

@มองความเคลื่อนไหวของวงการวรรณกรรมเราว่าอย่างไร
วิธีการเขียนมันหลากหลายขึ้น ไม่ได้มีแต่เพื่อชีวิตเหมือนในสมัยหนี่ง เรื่องสั้นวรรณกรรมของไทยมันหลากหลายขึ้น แต่เนื้อหายังไม่หลากมิติ เนื้อหายังวนเวียน คงต้องให้เวลากันต่อไป มันมีแนวโน้มที่จะไป แต่ว่ามันก็มีอุปสรรคสิ่งที่มาขวางกั้นไว้มาก นักเขียนที่แท้มีน้อย นี่คือปัญหาหลัก นักเขียนที่ทุ่มเทให้วรรณกรรมสุดจิตสุดใจมีน้อย นักเขียนที่กล้าปฏิเสธกระแสก็ยังมีน้อยเกินไป เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมในช่วงหลังยิ่งเงียบ ไม่มีอะไรน่าสนใจ จะมาคึกคักกันปีละครั้งช่วงซีไรต์ ซึ่งผมไม่รู้ว่า เขาพอใจกันอยู่หรือเปล่า แต่ถ้ายังพอใจกันอยู่อย่างนี้ มันก็จะไม่ไปไหน ทั้งที่เราเริ่มมีความหลากหลาย เพียงแต่เราต้องพัฒนาความหลากหลายที่มันเพิ่งเกิดขึ้น มันยังไม่สุกงอมพอที่จะเกิดวรรณกรรมดี ๆ ชั้นเยี่ยมขึ้นมา แต่ละคนต้องมุ่งมั่นจริงจังในแนวทางของแต่ละคน จนกระทั้งสร้างผลงานที่ดีขึ้นมา

วรรณกรรมจะขับเคลื่อนได้ ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น คือ มีวรรณกรรมชิ้นเยี่ยม ๆ ถือกำเนิดขึ้น ถ้ามันถือกำเนิดขึ้นในสังคมวรรณกรรมนั้น มันจะผลักให้สังคมวรรณกรรมนั่นเคลื่อนไปข้างหน้า เวลานี้ เรามีความหลากหลายแล้ว แต่เรายังขาดความจริงจังหนักแน่น ที่จะดันให้เกิดวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมขึ้นมา ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไป

@การเกิดวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมต้องอาศัยปัจจัย บรรยากาศหรือกิจกรรมมาช่วยผลักดันหรือเปล่า
ต้องมีความหลากหลาย มันเหมือนป่าต้องมีต้นไม้หลายชนิด มันต้องเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มันถึงจะเกิดต้นไม้ที่พิเศษมากขึ้นมา เพราะฉะนั้นความหลากหลายจำเป็น แต่ความหลากหลายอย่างเดียวไม่พอ มันต้องการนักเขียนที่ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง หนักแน่น ที่มั่นคงไม่คลอนแคลน ที่กล้าด้วย เพราะว่านักเขียนที่พอใจอะไรง่าย ๆ มักจะจบ

สมมุติ 10 เขียนไปได้ 7 เขาพอใจแล้ว อันนี้ลำบาก มันต้องอาศัยนักเขียนที่มีพลัง บวกกับบรรยากาศวรรณกรรมในสังคมที่หลากหลาย มีการปะทะสังสรรค์กันระหว่างรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ มีนักวิจารณ์ปัญญาชนในวงวรรณกรรมที่แหลมคม พอจะโยงวรรณกรรมเข้าไปสู่สังคมได้ ให้เห็นว่า ประเด็นทางสังคมกับวงวรรณกรรมมันเชื่อมโยงกันยังไง พวกนี้มันถึงจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ มันถึงเป็นเนื้อดินที่ทำให้เกิดขึ้น

แต่ถ้าขังตัวเองอยู่ในโลกวรรณกรรมแคบ ๆ พอใจอยู่กับผลงานกลาง ๆ มันก็จะไม่ไปไหน ต้องเปิดกว้าง วรรณกรรมต้องเปิดเข้าสู่สังคม ต้องไม่กันตัวเองออกจากสังคม ต้องไม่คิดว่า ตัวเองคือคนพิเศษ ต้องคิดว่า เราคือส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าทุ่มเทในงานวรรณกรรมที่ตัวเองทำอยู่ และสังเกตสังคม รับรู้ไปพร้อมกับสังคม มันจะทำให้วรรณกรรมเคลื่อนไปพร้อมกับสังคม

@สุชาติ สวัสดิ์ศรีเคยบอกถ้าจะเป็นนักเขียนที่ดีต้องทำงานมากพอ มีวินัย และมีผลงานสม่ำเสมอ แต่เมื่อนักเขียนทำงานมาระยะหนึ่งก็คาดหวังจะทำงานที่ดียิ่งขึ้น นักเขียนบางท่านไม่ได้เขียนเรื่องสั้นมานาน เพราะรู้สึกว่าถ้าเขียนออกไปเหมือน ๆ เดิมกับที่เขียนมาก็ไม่อยากเขียน จึงไม่มีผลงานเรื่องสั้นมาหลายปีแล้ว คุณคิดยังไง
ก็ดี การที่นักเขียนไม่ปล่อยงานออกมาซี้ซั้ว ผมว่าเป็นเรื่องดี แต่หมายถึงว่า พยายามเขียนอยู่ ไม่ใช่ไม่เขียนเลย มันคนละเรื่องกัน ถึงแม้ไม่มีงานออกมาเลย แต่ก็พยายามต่อสู้ พยายามเขียนอยู่ก็อีกเรื่องหนึ่ง คือ ถ้าเกิดเราไม่มีงานที่ดี แต่เรายังเขียนอยู่ พอมันไม่ดีเราก็ขย้ำทิ้ง ไม่ใช่เขียนไม่ได้ก็ไม่เขียนเลย มันก็หยุด

ผลลัพธ์ไม่ใช่ว่ามีงานออกมาหรือเปล่า มันอยู่ที่ว่า ต่อสู้ที่จะเขียนอยู่หรือเปล่า การทำงานหนักของนักเขียน มันไม่ได้หมายถึงว่าต้องออกมาปรากฎให้สาธารณชนรับรู้ บางคนอาจจะเขียนทุกวัน แต่ไม่พอใจ จึงไม่ปล่อยงานออกมาก็ได้ มันคนละประเด็นกับไม่เขียนเลย ทิ้งไปเลย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือคุณเลิกเป็นนักเขียนไปเลย

@คุณจำกัดความคำว่า “นักเขียน” ไว้แค่ไหน นักเขียนจะต้องเขียนเฉพาะเรื่องวรรณกรรมหรือเรื่องทั่ว ๆ ไปก็ถือว่าเป็นนักเขียน
เป็นนักเขียนหมด เขียนหนังสือก็เป็นนักเขียน ทำสัมภาษณ์ก็คือนักเขียนประเภทหนึ่ง ใครเขียนหนังสือเป็นอาชีพก็คือนักเขียนหมด มันมียุคโรแมนติกยุคหนึ่งที่นักเขียนจำกัดตัวเองไว้ในยูนิฟอร์ม หรือรูปแบบบางอย่าง ซึ่งผมว่า มันแคบไป คือ นักเขียนจริง ๆ แล้วใครที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอก็คือนักเขียน ในความรู้สึกผม แล้วนักเขียนแต่ละอย่างแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเขียนงานสัมภาษณ์ งานวรรณกรรม งานสารคดี มันก็ส่งแรงซึ่งกันและกันหมด

สังคมวรรณกรรมที่มีงานวรรณกรรมดี ๆ ก็มักจะมีบทสารคดีดี ๆ บทสัมภาษณ์ดี ๆ บางทีนักสัมภาษณ์ นักเขียนคอลัมน์นิสก็ปรับเอาวิธีการทางวรรณกรรมมาใช้ บางทีนักเขียนวรรณกรรมก็ปรับเอาวิธีการจากนักเขียน “นอนฟิคชั่น”มาใช้ อย่างผมเอง ผมเขียนงานทุกประเภททำทั้งสัมภาษณ์ สารคดี บทความ ความเรียง เรื่องสั้น บทกวี ผมไม่เคยบอกว่า ผมจะต้องเขียนเรื่องสั้นอย่างเดียว แต่ถ้าพูดถึงความทะเยอทะยานในแง่ศิลปะ ผมผูกไว้กับเรื่องสั้น ใช่ แต่ชีวิตนี้ผมก็ไม่ได้คิดว่า ผมจะต้องเขียนเรื่องสั้นอย่างเดียวเท่านั้น เพราะงานอย่างอื่นก็เอื้อให้ผมเขียนเรื่องสั้นได้ดีขึ้น การเขียนบทความของผม ช่วยถากถางวิธีคิดเขียนในการเขียนเรื่องสั้นใหม่ ๆ ให้ผม ช่วยอย่างมาก ถ้าผมหมกอยู่แต่เรื่องสั้น ผมจะไม่ค้นพบวิธีการใหม่ ๆ อย่างที่พบอยู่

นักเขียนสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะยังชีพด้วยการเขียนงานที่ไม่ใช่งานวรรณกรรม คือ งานวรรณกรรมจะเลี้ยงชีพไม่ได้ นักเขียนสมัยก่อนทั่วโลกเลย เขาจะยังชีพด้วยการเขียนบทวิจารณ์หนัง วิจารณ์เพลง เขียนบทความทางสังคมตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเป็นบรรณาธิการ นี่คือการเลี้ยงชีพของเขา เพราะวรรณกรรมของเขาเลี้ยงชีพไม่ได้ แต่เขาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นบรรณาธิการให้กับสำนักพิมพ์ให้กับนิตยสาร เขาเลี้ยงชีพด้วยการไปสัมภาษณ์คน หรือว่าเขียนบทวิจารณ์หนังวิจารณ์เพลง แล้วรายได้พวกนั้นเลี้ยงชีพเขา

ไม่มีใครนั่งเขียนหนังสืออย่างเดียว แล้วไม่ทำอาชีพหากินอื่น มันอดตายไปนานแล้ว เขาเลี้ยงชีพด้วยทักษะการเขียนของเขา ที่ว่าเขียนหนังสืออย่างเดียวอยู่ในป่า ผมไม่รู้ว่าเอามาจากไหนกัน เป็นความเชื่อยุคโรแมนติกยุคหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจ แต่บางคนเขาเลือกจะเขียนหนังสืออย่างเดียว อย่างพวกเสรีชน บุปผาชน นั่นเป็นความชอบของเขา ไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เขียนหนังสืออย่างเดียว ก็อาจมีจ๊อบนั้นจ๊อบนี้เข้ามา บางคนก็รับวาดรูปเป็นจ๊อบ ๆ บางคนไปขายเต้าฮวย เป็นวิธีการใช้ชีวิตของแต่ละคน ไม่เกี่ยวแล้ว บางคนไปมีอาชีพแปลก ๆ ไปเป็นหมอดูก็มี

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ