จำลอง ฝั่งชลจิตร : เราไม่ได้เป็นนักเขียนทีมชาติ แต่เราเป็นนักเขียนของชาติ

จำลอง ฝั่งชลจิตร

ในวันประกาศผลรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดที่ผ่านมาเรานัด จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนผู้มากประสบการณ์เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ณ ร้านริมทางแห่งหนึ่งในกรุงเทพ วันนั้นจำลอง ฝั่งชลจิตรเพิ่งขึ้นเวทีรับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่สองประเภทรวมเรื่องสั้นมาหมาดๆ ด้วยผลงาน ลิกอร์พวกเขาเปลี่ยนไป เส้นทางนักเขียนของจำลอง ฝั่งชลจิตร ทอดยาวผ่านกาลเวลามาเกือบ 30 ปีจนปัจจุบันเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นมือเรื่องสั้นระดับแถวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่ง แน่นอนว่าในความหลากหลายของประสบการณ์ที่แอบซ่อนอยู่ระหว่างทางของกาลเวลามีหลายสิ่งหลายอย่างน่าสนใจภายใต้นามปากกา จำลอง ฝั่งชลจิตร

“เขียนหนังสือครั้งแรกก็ประมาณปี 2518 2519 แต่มีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกประมาณปี 2521 ผลงานแรกเรื่องเป็นเรื่องสั้น และนี้ก็คือชีวิต ลงที่หนุ่มสาว เขียนมาเรื่อยๆ ลงในสยามรัฐบ้าง ลงในชาวกรุง ลงในมติชนสุดสัปดาห์ ลงตามนิยสารต่างๆ ลลนา อะไรต่ออะไร” “ตอนนี้เพิ่งเขียนนิยายใหม่เสร็จไปเรื่องหนึ่ง แต่เป็นเรื่องเด็กๆแบบ ขนำน้อยกลางทุ่งนานั้นแหละ เรื่องเข้าคลุกแมว คือ เป็นเรื่องของเด็กๆความผูกพัน ระหว่างเด็กกับพ่อแม่และแมว กะเอาลงเป็นตอนๆ ตอนนี้ส่งไปนิตยสารฉบับหนึ่งแล้ว แต่ไม่รู้เขาจะเอาลงหรือเปล่านะ วันนี้ก็เจอบก.แต่ไม่ได้ถาม ปรกติก็จะไม่ถามอยู่แล้ว ไม่ใช่วิสัยของเรา”

ทุกวันนี้จำลอง ฝั่งชลจิตรยังใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เวลาส่วนใหญ่หมดไปการการเขียนหนังสือ จัดรายการวิทยุท้องถิ่น และออกกำลังกายบ้าง โดยกีฬาที่ จำลอง ฝั่งชลจิตรเลือกเพื่อออกกำลังกายคือการเตะตะกร้อ “เมื่อก่อนใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพนานมากตั้งแต่ปี 2523-24 แล้วกลับไปอยู่สุราษฎร์ สองปี แล้วกลับมาอยู่กรุงเทพ 26 -42 ตอนนั้นทำหนังสือ ทำถนนหนังสือ แล้วมาทำนิตยสาร นะคะ พีเพิล แล้วก็ต่อด้วย อาร์ตออฟลิฟวิ่ง ปี 42 ก็กลับไปอยู่นครศรีธรรมราช ตอนที่เศรษฐกิจฟองสบู่

เหตุผลหนึ่งที่เลือกออกไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะลูกชายไม่สบายหัวใจรั่ว หมอบอกว่าลูกชายอยากได้อากาศดีๆ ก็เลยตัดสินใจไปอยู่นครศรีธรรมราช เพื่อลูกจะได้มีอากาศดีๆหายใจ ภรรยาก็ลาออกจากงานเงินเดือน 2หมื่นกว่าบาท ผมเองก็ไม่มีเงินก็ค่อยๆเขียนหนังสือกันไป เวลาว่างก็ นั่งอ่านหนังสือ เตะตะกร้อบ้าง คือต้องออกกำลังการดูแลสุขภาพบ้างเหมือนกันสำหรับอายุขนาดนี้ แล้วก็จัดรายการวิทยุบ้างเล็กน้อยที่นครศรีธรรมราช จัดคลื่นชุมชน 107.5

ตอนนี้เขียนลงที่ผู้จัดการรายวันฉบับวันจันทร์ เป็นที่เดียวที่ผมเขียนอยู่ตอนนี้ก็พอจะได้ค่าเรื่องมาบ้าง ก็ลงสัปดาห์ละชิ้นเขียนเกี่ยวกับฟุตบอล พอดีสนใจเรื่องกีฬาอยู่บ้าง ก็พอได้ค่าน้ำค่าไฟ ”

- เข้ารอบซีไรต์มากี่ครั้งแล้ว
เข้ามา 3 ครั้งแล้ว จากผลงาน เมืองน่าอยู่ ลิกอร์พวกเขาเปลี่ยนไป สองเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้น แล้วก็มี ในลึก ซึ่งเป็นนวนิยาย

- มองสังคมเปลี่ยนไปเยอะไหม เมื่อเทียบกับลิกอร์
ลิกอร์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเป็นแค่พื้นที่หนึ่งของเมืองไทย แต่ก็มีเรื่องราวเป็นของตัวเองทั้งศิลปวัฒนธรรม วิธีพูด การเจรจาของคน ธรรมเนียมประเพณี ส่วนที่อื่นก็เปลี่ยนไปมากเหมือนกัน

- ความภาคภูมิใจต่อประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช?
ความภูมิใจในประวัติศาสตร์เราพูดไม่ได้เพราะเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราชคืออะไร เพราะว่าประวัติศาสตร์มันถูกเล่ามาอีกทีหนึ่ง แต่ในความที่เป็นแผ่นดินถิ่นเกิดแล้วเราก็รัก

- เหตุการณ์ที่ดีที่ใจที่สุดตั้งแต่เขียนหนังสือมา
ดีใจที่ยังเขียนหนังสือได้เรื่อยๆ ดีใจที่มีนักเขียนใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆ แต่เหตุการณ์ที่ดีใจที่สุดยังไม่เคยมี

- เหตุการณ์ที่เสียใจที่สุดตั้งแต่เขียนหนังสือมา
ที่เสียใจที่สุดก็คือการจากไปของกนกพงศ์นี้ แหละ อันนี้รู้สึกเลยและรู้สึกมากด้วย เหมือนสูญเสียน้องของเราไป สูญเสียนักเขียนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง

- รู้สึกยังไงกับคำว่าสะตอสามัคคี
เฉยๆไม่รู้สึกอะไรกับคำพูดนี้ เพราะว่าผมไม่ได้เป็นพวกแบบนั้น ฟังเขาบ้างเวลาเขาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่โกรธมันไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องโกรธ ไม่ให้คำพูดแบบนี้อย่างนี้มารบกวนจิตใจ

- เมื่อไหร่บอลไทยจะได้ไปบอลโลก
ไม่มีทาง!! ปัญหาคือหนึ่งโครงสร้างของสมาคมฟุตบอลไทยไม่เอื้ออำนวยให้บอลไทยไปบอลโลก สองคือนิสัยใจคอของนักเตะไทย พฤติกรรมของนักเตะซึ่งไม่สามารถทำให้ฟุตบอลไทยไปบอลโลกได้ พัฒนาไม่ขึ้นน่ะ

- เชียร์ฟุตบอลทีมอะไร
เมื่อก่อนอาจจะเชียร์แมนยูบ้างแต่ตอนนี้ก็ดูบอลเป็นเกมส์กีฬา แต่เริ่มจากแมนยูก็ยังเชียร์แมนยูอยู่นั้นแหละแต่ไม่ได้เชียร์อย่างเข้มข้น แต่ถ้าเป็นทีมชาติในบอลโลกนี้เชียร์ฮอลแลนด์ อยากเห็นฮอลแลนด์ได้แชมป์ ส่วนพนันบอลนี้ไม่เล่นนะขอดูเป็นเกมส์กีฬาดีกว่า

- เป็นนักเขียนจำเป็นต้องเขียนทุกวันไหม
ถ้าเขียนได้ทุกวันก็ดี นักเขียนจริงๆแล้วควรเขียนทุกวัน วันละหน้าสองหน้าก็ยังดี แต่ผมเองไม่ได้เขียนทุกวัน เราไม่มีเงินมากพอที่จะทำอย่างนั้นได้ ถ้าเราพิมพ์หนังสือทีละ 4-5 หมื่นเล่ม มีรายได้ครั้งละล้านสองล้าน เราก็ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างอื่นนั่งกับหนังสือได้

- เป้าหมายในการเป็นนักเขียน
ก็เขียนหนังสือไปเรื่อยๆ

- แสดงว่าไม่ได้ตั้งเป้า
ตั้งเป้า ถ้าไม่ได้ตั้งเป้าก็คงไปทำอย่างอื่นแล้ว คนเราถ้าทำอะไรได้ 30 ปีก็แสดงว่าต้องมีอะไรอยู่บ้างในใจ ต้องมีเป้าหมายอยู่ในใจ ถ้าคุณทำอะไรสักอย่างได้ 30 ปีมันก็ควรจะมีเป้าหมาย เรามีสิ่งที่จะพูดกับโลกกับสังคมเรา เป้าหมายก็คืออยากพูดสิ่งที่เราคิด ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในสิ่งเราอยากจะพูดก็คงจะอยู่ไม่รอดแล้ว

- นักเขียนเริ่มตอนไหน
เริ่มตอนที่เราอยากเขียน....คนอื่นเรียกเรา แต่ผมว่ามันก็ต้องมีผลงานด้วยเพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

- ฝากถึงคนอยากเขียนหนังสือ
อยากเขียนก็เขียน ไม่ต้องคิดอะไรมาก ต้องคิดก่อนว่าอยากเขียนเพราะอะไร อยากพูดอะไร

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ