บุญชิต ฟักมี : คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา

บุญชิต ฟักมี

จะว่าไป “กล้า สมุทวณิช” (นามสกุลคุ้นๆ..ใช่แล้ว เขาคือลูกชายของ “ชัยสิริ สมุทวณิช”) เจ้าของนามปากกากวนๆที่ทำเอาต้องหันมาฟังอีกรอบอย่าง “บุญชิต ฟักมี” ซึ่งเจ้าตัวอธิบายว่า อย่าคิดลึกซิ เพราะเจ้าของมีความหมายในภาษาไทยจริง ๆ โดย “บุญชิต” มีความหมายคือ “ชัยชนะแห่งบุญบารมี” ส่วน “ฟักมี” ก็แปลว่า “มีฟักเยอะ” ก็ไม่ใช่คลื่นลูกใหม่ล่าสุดที่เพิ่งซัดสาดเข้าสู่ฝั่งซะทีเดียวนัก

เพราะก่อนหน้านี้ เขาเคยมีผลงานจิกๆกวนๆยั่วล้อกระสังสังคมในคอลัมน์ประจำของสื่อหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาต่อ ชื่อของเขาจึงเงียบๆไปพร้อมงานเขียนคอลัมน์.... ก่อนที่จะกลับมาสั่นสมองคนอ่านหนังสืออีกครั้ง ด้วยผลงานประเภทใหม่อย่าง “เรื่องสั้น” เพราะเวลาเพียงสั้นๆ นับแต่รวมเรื่องสั้นเล่มแรก ฿"ข้อความต่างด้าว"฿ รวมถึงเรื่องสั้น ฿"มนุษย์ตับหวาน"฿ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากเวทีนายอินทร์อะวอร์ดตีพิมพ์ กลิ่นหอมๆของงานเจ๋งๆ ก็สั่นประสาทคอหนังสือให้ต้องหยิบยกมาถกเถียงอย่างกระหาย และกลายสถานะเป็นนักเขียนเรื่องสั้น ที่ไม่ควรจะละสายตา

ปกติแล้วจะจับตัวเจ้าของรอยยิ้มนุ่มๆในรูปมานั่งคุยกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนี้กล้ากำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้วยทุนรัฐบาลฝรั่งเศสด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มหาวิทยาลัย Paul Cezanne-Aix-Marseille 3 จะซื้อตั๋วเครื่องบินก็คงเยอะไป แต่ในช่วงสั้นๆที่มาเยี่ยมบ้าน ก่อนกลับไปทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ "กระบวนยุติธรรมเชิงรัฐธรรมนูญ กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย"ให้เสร็จภายในปีครึ่ง โอกาสก็มาเยือน.... "ผมไปอ่านเสือใบเสือดำในห้องสมุดแล้วมีไม่ครบ เลยหงุดหงิดรำคาญ ก็ เออ เขียนเองก็ได้"เขาย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของวันนี้ด้วยรอยยิ้ม เพียงเรียนม.2 ด.ช.กล้าก็ตีพิมพ์เรื่องสั้นครั้งแรกในนิตยสารไปยาลใหญ่ พอขึ้นม.4 เรื่องสั้นก็ปรากฏในมติชนสุดสัปดาห์

“แต่เขียนไม่ต่อเนื่องไงครับ ช่วงหนึ่งต้องย้ายบ้าน แล้วไปอยู่บ้านอีกหลังในบริเวณเดียวกันกับอ.เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล ในช่วงนี้คือเพิ่งอ่านหนังสือแตก อ่านแบบจริงๆจังๆ ก่อนหน้าก็อ่านการ์ตูนตามประสาเด็กทั่วไป พอเรื่องสั้นได้ลงก็ดีใจมาก เพราะตอนเด็กๆก็มีความฝันอยู่สองอย่างคืออยากเป็นนักเขียนกับอยากเป็นยาม คือยามเป็นอาชีพที่ไม่ต้องนอนเวลาคนอื่นเขานอนกัน เท่ห์ดี ส่วนนักเขียนก็ต้องหาเรื่องมาเล่าให้คนอื่นฟัง พอโตมาเลยครบเลย ความฝันเป็นจริง นั่งเขียนหนังสือตอนที่คนอื่นหลับกัน” ว่าแล้วก็หัวเราะเสียงดัง ทว่าหลังรู้ว่าชีวิตยังมีอะไรต้องทำเยอะ เขาก็ตัดสินใจเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเจ่าตัวว่าเป็นสิ่งที่ช่วยในการเขียนงานของเขาอยู่ไม่น้อย เพราะการเรียนกฏหมายให้ได้ดีจะต้องรู้จักตั้งคำถาม ตีความคิดให้ได้คำตอบ ในเรื่องที่อาจจะไม่ได้เอะใจมาก่อน เพราะคุ้นเคยในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

ก่อนจะกลับมากับ"ข้อความต่างด้าว" ที่เปี่ยมไปด้วยคำถามต่อบริบทต่างๆในสังคมไทย ผ่านสำเนียงยั่วล้อ เย้ยหยันและเสียดสี ซึ่งเขียนช่วงไปเรียนต่อฝรั่งเศส ทั้งที่กล้าบอกยิ้มๆว่า เขาออกจะเป็นเด็กดีของสังคม แต่ในความไม่แปลกก็มีความแปลกอยู่เช่นกัน "ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความพิเศษ คือจะคิดว่าเราไม่เหมือนคนอื่น ไม่ได้ตามคนอื่นนะโว้ย แต่จริงๆแล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราต่างยังไง เมื่อเราไม่รู้เราก็เลยแตกต่างตามอย่างคนอื่นไปเรื่อยๆ" และเพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เขาย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงความเป็นเด็กดีที่มี "ในสังคมมีสิ่งที่เรียกว่าคนนอกหรือต่างด้าวซ่อนอยู่เยอะ ถึงบางครั้งเราจะรู้สึกว่าเราก็เป็นเรา แต่ก็มีแง่มุมบางอย่างที่ทำให้รู้สึกแตกต่างจากสังคมที่อยู่ ความขัดแย้งที่ว่า ทำให้คนเราแตกต่างกันมากขึ้น แล้วไม่ใช่แค่รสนิยมทางการเมืองนะ แม้จะนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน อ่านหนังสือเหมือนกัน แต่พอดูเข้าจริงๆจะเห็นเลยว่าอ่านหนังสือคนละเล่ม เหมือนคนที่บอกว่าชอบหนังสือผม ก็ชอบงานเขียน ชอบดูหนังประเภทหนึ่ง มีความคิดเชิงเสรีนิยมวิพากษ์วิจารณ์สังคม กับอีกกลุ่มหนึ่งที่กลุ่มแรกเรียกว่าสลิ่ม ก็รสนิยมต่างกันไป แต่ก่อนหน้าไม่ค่อยมีใครรู้สึกถึงตรงนี้"

ความต่างไม่ใช่ความผิด ที่ผิดคือการไม่ยอมรับกัน "ตราบใดที่เขาไม่ละเมิดเรา เราก็ไม่ควรละเมิดเขา แต่มันยาก" กล้าว่าลักษณะการตั้งคำถามในงานเขียนของเขา ผ่านตัวละครที่สัมผัสได้ถึงความแปลกแยก ต้องยกความดีให้กับการเรียนนิติศาสตร์ "กฏหมายต้องมีกระบวนการตีความทางความคิดเพื่อให้ได้คำตอบ อยากถามว่าจริงหรือเปล่า ใช่หรือเปล่า ในสิ่งที่เราเองก็อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างว่า อยู่มุมไหนของโลกก็จะเขียนแบบนี้"

อย่างเรื่อง "นิทานการเมืองเรื่องยักษ์กับมังกร" "ช่วงเขียนเรื่องนี้ กำลังไล่ทักษิณกันสนุกเลย เราก็สงสัยว่า เฮ้ย ปลุกพลังบางอย่างขึ้นมาไล่แบบนี้ แล้วถ้าเกิดสมมติว่าสำเร็จ เราจะทำยังไงกับพลังที่เราปลุกมาล่ะ เราปลุกมังกรมาฆ่ายักษ์ โดยไม่สนใจว่าใช้วิธีชอบธรรมรึเปล่า ในเรื่องยักษ์ตาย แต่ชีวิตจริงยักษ์ไม่ตาย แถมมังกรยังผงาดอีก" เขาอธิบายด้วยรอยยิ้ม ฟังแล้วชักอยากรู้ ว่าแล้วตัวเขามองสังคมไทยยังไง? "หลังๆเริ่มมองว่าเป็นสังคมที่ไร้เดียงสาและหน้าบาง" กล้าตอบทันที "หลายอย่างที่เกิดขึ้นถ้าเรางมหาราก จะเห็นเลยว่ามาจากการปกป้องอัตตาเท่านั้น ทั้งที่บอกว่าบ้านเราเป็นเมืองพุทธ แล้วแก่นใหญ่ของธรรมะคือการไม่ยึดติดกับตัวกูของกู อย่างเช่าพระ ก็หน้าบางว่าพระเป็นของบูชา ไม่ซื้อขาย แต่เช่าแล้วมีกำหนดคืนหรือเปล่า เราใช้วิธีสร้างคำหรือกระบวนการบางอย่างมาอำพรางความหน้าบาง มีเรื่องอย่างนี้ซ่อนอยู่ในสังคมเยอะ" เป็นสภาวะหน้าบาง ที่ส่งไปถึงเรื่องอย่างวัฒนธรรมการวิจารณ์

"เราแยกตัวตนกับบทบาทหน้าที่และผลงานยังไม่ออก การวิพากษ์ผลงานก็เลยเหมือนด่าเจ้าของ ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น การเมืองก็เหมือนกัน เราวิจารณ์แนวคิดก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่กลายเป็นว่าด่าความคิดเราเท่ากับด่าเรา ไปผูกกันที่ตรงนี้ เรื่องการละอัตตากลายเป็นหลักธรรมเท่ห์ๆที่ก็ไม่มีใครพยายามครุ่นคิดอย่างจริงจัง" นี่ก็ว่าหนักแล้ว แต่ยังมีบางอย่างที่คนซึ่งตั้งใจว่าจะไม่ทิ้งการเขียนอีกแล้วหนักใจกว่าเยอะ "ผมห่วงเรื่องการอ่าน" เขาว่า "คือเหมือนหนังสือเป็นหนังสือที่พบได้ในโลตัสทุกแห่ง แต่น่ากลัวว่าอ่านฉาบฉวยเหลือเกิน เหมือนเป็นการพักผ่อนแล้วจบ ไมได้ก้าวจากการ์ตูน ซึ่งผมก็เคยชอบอ่านนะไปสู่นิยายปกหวาน แปลญี่ปุ่น แล้วก็ก้าวต่อที่มุราคามิจนได้"

ส่วนหนึ่งเขาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะลักษณะการเขียนของไทย หาจุดกึ่งกลางยาก "คือถ้าไม่เขียนเรื่องน้ำเน่าไปเลยก็จะยากแบบกะได้รางวัลเลย มีคนเชื่อมโลกตรงกลางน้อย ซึ่งจำเป็นมากไม่งั้นจะขาดช่วง"ตัวเองทำได้ไหมนั้น เขาก็ว่าพยายามอยู่ ส่วนตอนนี้นอกจากจะขอพรให้ข้อความต่างด้าวถูกวางในตำแหน่งที่มองเห็นชัดๆในร้านหนังสือแล้วนั้น "ขอแค่บาปที่เคยชั่งใจเวลาเห็นงานนักเขียนหน้าใหม่ว่า ซื้อดีไม่ซื้อดี อย่าตามสนองก็พอ" ว่าแล้วก็หัวเราะเสียงดัง

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ