เอรี่ ธนัดดา สว่างเดือน เปิดแผลให้ระวัง ​​​​​​​อาชีพขายบริการสุดโหด : นรกบนโลกหลังกรงเหล็ก

เอรี่ ธนัดดา สว่างเดือน เปิดแผลให้ระวัง ​​​​​​​อาชีพขายบริการสุดโหด

อีกครั้ง! "เอรี่" ธนัดดา สว่างเดือน เปิดแผลให้ระวัง
อาชีพขายบริการสุดโหด –นรกบนโลกหลังกรงเหล็ก

โดย...นันทพร ไวศยะสุวรรณ์

 

ถือเป็นกิจกรรมพบปะนักเขียนระดับเบสเซลเลอร์อีกคน สำหรับเวทีสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อ “เอรี่-ธนัดดา สว่างเดือน ลุกขึ้นมาพูดคุยเกี่ยวกับผลงานรวมชุด 2 เล่ม ที่มาในรูปแบบ BOXSET LIMITED EDITION : I am Eri ในงาน 60 ปีประพันธ์สาส์น ภายในงานสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 50 ณ สถานีกลาง บางซื่อ ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565

 

เอรี่-ธนัดดา ขึ้นเวทีบอกเล่าถึงที่มาที่ไป กว่าจะยืนอยู่บนเส้นทางนักเขียนหญิง ที่คว้ารางวัลชมนาดถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นรางวัลที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เห็นถึงคุณค่าและสนับสนุนศักยภาพนักเขียนสตรี  ให้เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานเขียนนวนิยาย และถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

โดย เอรี่ เจ้าของรางวัลดับเบิ้ลชมนาด เจ้าของผลงานอันลือลั่น "ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ข้ามแดน" บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ถูกความยากจนบีบบังคับ ให้จำต้องไปขายตัวแลกเงินในต่างประเทศ ด้วยความหวังว่าครอบครัวจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการผจญชีวิตครั้งนี้ ทำให้เธอเผชิญหน้ากับความสุข ความเศร้า ความเหงา ความรัก และบทพิสูจน์หลายอย่างที่ท้าทายความเป็นมนุษย์

 

“เขียนเป็นเรื่องแรกตอนอายุ 40 ปีแล้วก็ได้รางวัลชมนาดเลย เขียนเล่าย้อนไปตอนอายุ 18 ปีที่เข้ามาเส้นทางอาชีพขายบริการเพราะอยากได้เงิน 4,000 บาท เพื่อไปซื้อนมให้ลูกเล็กที่เราพลาดไปมีลูกตอนอายุน้อย”  

 

เอรี่-ธนัดดา เล่าว่าเด็กวัยรุ่น อายุน้อย ร้อยทั้งร้อยถูกหลอกทั้งนั้น ไม่มีใครคาดฝันว่าโลกของคนอาชีพนี้จะน่าสะพรึงกลัวขนาดนี้ 

 

 

"วันแรกแต่งตัวก็ไม่เป็น โทรมๆ งงๆ ทำไมคนอื่นแต่งตัวสวยกันจัง โดนต้อนไปนั่งในตู้กระจก แล้วตกใจมากที่เห็นแขกต่างชาติเข้ามาเที่ยวแบบทัวร์เป็น 100 คน หนีไม่ได้แล้วถ้าใครไปอยู่ตรงนั้น ความทุกข์ทรมาน มันก็จะพาให้เราไปอยู่ในเส้นทางยาเสพติด ที่บรรดาแม่เล้าหรือเจ้าของคนคุมธุรกิจจะหามาให้เรากิน เพื่อลืมความเจ็บปวดทั้งทางกายและใจ"

 

ท่ามกลางโลกที่โหดร้ายสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง เอรี่ ได้ถ่ายทอดออกมาด้วยสำนวนและลีลาการเขียนที่ชวนติดตาม ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้อ่านลุ้นไปกับเรื่องราวแต่ละหน้า แต่ละตอนด้วยความอัศจรรย์ใจ แต่กลับไม่ได้ให้รู้สึกเศร้าและทดท้อไปกับชีวิตเพียงอย่างเดียว  

 

ส่วนเล่ม "ขังหญิง" เธอได้สะท้อนให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความยากลำบากของชีวิตผู้ต้องขัง ที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดอยู่ทุกเมื่อ แม้โลกหลังกำแพงไร้อิสรภาพ จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าหากวันหนึ่ง คุณทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบก็ตาม ความผิดพลาดนั้นก็อาจทำให้ต้องก้าวเข้าสู่โลกมืด

 

"ชีวิตเข้ามาสู่วงการค้าบริการตั้งแต่ อายุ 18 ปี วนเวียนอยู่ในอาชีพนี้กว่า 20 ปี ในหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ ดิฉันเขียนบอกเล่าถึงการใช้ชีวิตที่โลดโผนจนต้องเข้าไปอยู่ในคุกหลายๆ ประเทศที่เราไปทำอาชีพขายบริการ การค้ามนุษย์มีทุกๆ แห่งทั่วโลก แล้วแต่ละแห่งมันมีเส้นทางอย่างไรบ้าง...

ดิฉันก็จะเขียนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงด้วยกันค่ะ เพื่อให้อ่านรู้ถึงความโหดร้ายในอาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ในยุโรป หรือเอเชีย มันก็ไม่ใช่อาชีพสบายทั้งนั้น แม้รายได้ดี แล้วถ้าจะออกจากเส้นทางโหดร้ายจะทำได้อย่างไร”

 

เอรี่-ธนัดดา เล่าถึงวังวนอาชีพนี้ ว่าเข้าแล้วออกยาก  เส้นทางสีเทาจะมีคนชักจูงให้ไปทำอาชีพนี้อยู่ตลอดเวลา

 

"มีคนมาชวนไปทำงานที่ฮ่องกง ที่มีเอเจนซี่พาไป พอไปถึงจึงบอกว่าต้องทำงานขาย 150 ครั้งจ่ายชดใช้เป็นค่านายหน้า ตกใจแต่ต้องทำ ต้องรับแขกวันละ 30-50 คนเพื่อจะได้อิสระเร็วๆ ทุกประเทศจะหนีไม่พ้นถูกตำรวจจับ ไปญี่ปุ่น เจอมาเฟียยากูซ่า ยิ่งน่ากลัว จู่ๆ ผู้หญิงไทยเพื่อนร่วมอาชีพเรา หายตัวไปไร้ร่องรอยซึ่งตายแน่ๆ หรือความโหดร้ายในคุกสิงคโปร์ที่เขาอยากให้เราหลาบจำ ผู้หญิงเข้าห้องน้ำได้ไม่กี่นาที มีกระดาษแบบห่อโรตีแข็งๆ ให้ทำความสะอาดไม่กี่แผ่น แต่เราต้องอยู่ให้ได้”

 

เอรี่ สะท้อนความเจ็บปวดอีกครั้งว่าการขาดอิสรภาพคือความตกต่ำที่สุดของความเป็นมนุษย์แล้ว ยังต้องมาเจอระบบในโลกหลังกรงเหล็กที่ใช้นักโทษดูแลกันเอง การถูกซ้อมคือเรื่องปกติ แล้วถ้าใครเข้ามาเส้นทางอาชีพนี้ มันก็ต้องเจอทุกอย่างที่เธอเขียนไว้อย่างแน่นอน ซึ่งทั้ง 2 เล่มนี้ เธอจึงอยากฝากไว้เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจถึงผู้อ่านที่รักอีกครั้ง 

 

Writer

Ampaporn Borworn