ความรักชาติของชาวเหมืองแร่: เมื่อเส้นแดนแบ่งแยกเราให้เป็นอื่น : บทวิจารณ์โดย พรทิพย์ ชนะศุภชัย

ความรักชาติของชาวเหมืองแร่: เมื่อเส้นแดนแบ่งแยกเราให้เป็นอื่น

            ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ เป็นในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ผลงานจากปลายปากกาของคุณอาจินต์  ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจําปี 2534 หนังสือเหมืองแร่ว่าด้วยบันทึกประสบการณ์ชีวิตของคุณอาจินต์หลังถูกรีไทร์จากการเป็นนิสิตคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องทํางานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภาคใต้นานถึง 4 ปี ด้วยความดีงามทั้งด้านวรรณศิลป์ และเนื้อหาที่สะท้อน ให้แง่คิดเกี่ยวกับดําเนินชีวิต เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ได้รับการยกย่องเป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ มหาวิทยาลัยเหมืองแร่ในปีพ.ศ. 2548
           ความรักของชาติของเหมืองแร่ เล่าถึงวันหนึ่งที่คุณอาจินต์ได้รับมอบหมายจากนายฝรั่งให้จับขโมยแร่บนเรือขุดในยามดึก แต่ผู้เล่าเรื่องต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าหัวขโมยคือ ก้อง หัวหน้างานที่เขาเคารพรัก จึงเกิดบทสนทนาว่าด้วยความรักในชาติของตนที่ไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติกอบโกยทรัพยากรของบรรพบุรุษไป ด้วยความมั่นคงในอุดมการณ์รักชาติของผู้เล่าขัดกับหน้าที่ที่ต้องจับขโมยในเจ้านายต่างชาติ นําไปสู่การตัดสินใจลาออกจากงาน แต่จากบทสนทนาแท้จริงแล้ว ก้องเพียงได้รับมอบหมายจากนายฝรั่งให้เล่นละครตบตาเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์ของคุณอาจินต์เท่านั้น
          ด้วยบทสนทนาอันขัดแย้งระหว่างความรักชาติกับการทํางานให้กับชาวต่างชาติที่รับผลประโยชน์มหาศาลจากแร่บนแผ่นดินไทยนั้น ทําให้เกิดคําถามขึ้นในใจเราว่าเราเป็นใคร ใช่คนไทยตามที่ก้องกล่าวไว้จริงหรือ

 

แนวคิดใหม่บอกกล่าวรากเหง้า?

          “ชาติมาก่อนคน แร่นี้เป็นของชาติไทยใต้ตีนที่คุณยืนเหยียบ อยู่นีคือแผ่นดินไทย แร่ที่อยู่ใต้ดินเป็นแร่ของคนไทย”
           ถ้อยคํานี้เอ่ยจากปากของก้องหลังผู้เล่าถามถึงสาเหตุของการขโมยแร่ ด้วยตรรกะว่าแร่อยู่ในประเทศไทย เจ้าของสิทธิในการครอบครองก็ต้องเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน จนไม่สนใจถึงหลักการทางศีลธรรมว่าการขโมยคือความผิด แต่หากลองนึกย้อนความเป็นชาติไทยนั้น เพิ่งเกิดกระแสแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วง
อาณานิคมไม่กี่ร้อยปีก่อนเท่านั้นเอง

           หรือแม้เราจะอ้างว่าไทยมีประวัติศาสตร์ชาติที่ยาวนาน คุณธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่ารัฐสมัยเก่าไม่ถือว่าการครอบครองเขตแดนเป็นเรื่องสําคัญ แต่เขตแดนวังของเจ้านายในอดีตสําคัญยิ่งกว่า เพราะอํานาจอิทธิพลของเจ้านายที่มีต่อไพร่และเจ้านายรอบข้างมีผลต่อการแสวงหาผลประโยชน์มาก ซึ่งหากเขตใดต้องการ
พึ่งพาอีกรัฐหนึ่ง สามารถทําได้ด้วยการสวามิภักดิ กลายเป็นประเทศเทศราชและจ่ายค่าคุ้มครองแก่เจ้าเมืองไป จึงเกิดการขยายอิทธิพลทับซ้อน ดังนั้นความเป็นเจ้าของชาติไทยผ่านการกําเนิดเส้นเขตแบ่งแดนประเทศไทยไม่กี่ร้อยปี กลายเป็นข้อกังขาว่าแผ่นดินไทย คนไทยแท้จริงนั้นคืออะไร เมื่อสิ่งต่าง ๆ ในอดีตล้วนมีความหลากหลายมาโดยตลอด

 

แบ่งเขา แบ่งเรา เรากลมเกลียว
           จากช่วงแรกของเรื่องสะท้อนการใช้ชีวิตสังคมที่พึ่งพาอาศัยฉันท์พี่น้อง ก่อเกิดความรู้สึกผูกพันต่อพี่น้องกรรมกรเหมืองแร่ของผู้เล่า การได้รับมอบหมายให้จับขโมยที่อาจเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกันสร้างความลําบากใจราวกับว่าผู้เล่าถูกผลักใสเป็นคนอื่นไป เพียงเพราะหน้าที่

          “แต่ขณะนี้ข้าพเจ้ากลายเป็น ไอ้คนนอกฝูง นายฝรั่งเจาะจงตัวข้าพเจ้าให้ไปดักจับคนขโมยแร่”
           ในระหว่างความขัดแย้งในจิตใจของผู้เล่า แม้ทราบดีว่าการขโมยเป็นสิ่งผิด แต่ด้วยอุดมการณ์ที่คิดเห็นเดียวกันกับนายก้อง ทําให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึก    ลําบากใจที่จะกล่าวความจริงกับนายฝรั่ง ด้วยความเกรงกลัวในการทรยศเพื่อนร่วมงาน และรู้สึกอึดอัดที่ทํางานไม่ตรงตามจรรยาบรรณด้วยการเอาเปรียบเจ้านาย จึงทําให้ผู้เล่าเลือกบอกความจริงกับนายฝรั่ง และลาออกที่ไม่สามารถทํางานช่วยต่างชาติกอบโกยผลประโยชน์ทรัพยากรจากแผ่นดินเกิดได้จากการตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนถึงตัวละครที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ กลายเป็นการตัดพ้อความลําบากใจของตนตอนท้ายเรื่อง

           “ก็จะอยู่มันหาห่าอะไรล่ะ ทำงานซื่อตรงก็กลายเป็นว่าไม่รักชาติ แต่ถ้าหวนมาลักขโมยเขาก็ผิดวิธีในใจฉัน กลับกรุงเทพฯ ไปขับ แท็กซี่ดีกว่าว่ะ”
            เช่นเดียวกับนายก้องเมื่ออาจินต์น้องรัก แสดงความเห็นใจกับนายฝรั่งที่ถูกเอาเปรียบจากการถูกลูกน้องลักโขมย เขาก็พร้อมผลักผู้เล่าเป็นคนอื่นเพียงเพราะความคิดที่ไม่ตรงกัน

            “งั้นคุณก็ลืมชาติเสียแล้ว เห็นเขาให้ที่พักที่อยู่ ให้เงินเดือนกิน ก็หลงสวามิภักดิเขาเสียจนเกินการณ์ คุณอยู่ส่วนคุณเถอะน่า อย่ามา ยุ่งกับพวกผม...”
             อีกสิ่งหนึ่งในความรักชาติในเหมืองแร่ได้สร้างอคติต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างชัดเจน คือ เชื้อชาติ (Xenophobia) ซึ่งกล่าวหานายฝรั่งด้วยความรู้สึกเกลียดกลัว การเข้ามายึดครอง ข่มเหงคนพื้นเมืองและสูบทรัพยากรไปเสียสิ้น ด้วยภาพจําชาติอาณานิคมยุโรป ซึ่งสะท้อนผ่านการใช้ทาก หนอนปล้องดูดเลือดเป็นสัญลักษณ์ของชาวตะวันตก และเผาไฟฆ่ามันทิ้งราวกับชัยชนะของชาวพื้นเมืองที่ทวงคืนความเป็นเจ้าของได้ในที่สุด

             “ข้าพเจ้าเดินลุยหมอกกลับทีพัก รู้สึกผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิต อะไรผิด อะไรถูก ข้าพเจ้าตัดสินไม่ได้ ทากตัวเล็กๆ เท่าเข็มเย็บผ้าซึ่งเกาะพราวอยู่ตามยอดหญ้าสปริงตัวเข้ามาอยู่ในรองเท้า แต่ข้าพเจ้าไม่มีกะใจจะปลดมันทิ้ง จนถึงที่พักจึงจุดเทียนขึ้น แกะเจ้าทากเหล่านั้นออกจากซอกเล็บเท้า ขณะนี้มันดูดเลือดตัวโป่งโตเท่าหลอดกาแฟ ดึงมันออกช้าๆ เอาลนเปลวเทียนไข มันแตกเพี๊ยะงอตัวเป็นก้อนกลม เหม็นไหม้เลือดของเราเองจนคลื่นไส้”
             ด้วยเส้นแบ่งความแตกต่างระหว่างเขาและเรา ไม่ว่าใช้เกณฑ์แบ่งแยกอะไรก็ตาม เราลืมสิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือความเป็นมนุษย์หรือเปล่า

 

แหล่งอ้างอิง
ธงชัย วินิจจะกูล. (2551, กรกฎาคม 8). บทความธงชัย วินิจจะกูล: ปราสาทเขาพระวิหาร อาจเป็นระเบิดเวลา.
[ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2008/07/17301
ธงชัย วินิจจะกูล. (2554, กุมภาพันธ์8).ธงชัย วินิจจะกูล: "เสียดินแดน" เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตาย
แทน. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2011/02/33012



ความรักชาติของชาวเหมืองแร่: เมื่อเส้นแดนแบ่งแยกเราให้เป็นอื่น
บทวิจารณ์โดย พรทิพย์ ชนะศุภชัย
โครงการ อ่าน เขียน เรีบยนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 7

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ