รำพันถึงภาพจำที่ชัดเจนในหัวใจส่วนลึก : บทวิจารณ์โดย ตะวัน ผิวทองงาม

รำพันถึงภาพจำที่ชัดเจนในหัวใจส่วนลึก

รำพันถึงภาพจำที่ชัดเจนในหัวใจส่วนลึก 

      “ รำลึกวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ” ผลงานของ ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ประจำปี ๒๕๕๗ ซึ่งได้เรียงถอยร้อยคำสื่อถึงความจงรักภักดี เนื่องในวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙  ผ่านกวีนิพนธ์ความยาว ๘ บท ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกแทนคนไทยต่อเหตุการณ์ความสูญเสียที่เป็นที่สุด ภาพจำที่ยังคงชัดเจนถูกเล่าผ่านตัวอักษรเพียงวรรคละ ๘ คำ แต่เปี่ยมไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ นอกจากเป็นการนำเรื่องราวมาร้อยเรียง ผู้เขียนได้สอดแทรกความรู้สึกนึกคิดไว้ในบทกวีอย่างแนบเนียน  ถือเป็นบทกวีที่เป็นมากกว่าบทกวี เพราะมีคำภาพ และเสียงให้ผู้อ่านได้สัมผัสครบทุกอารมณ์ จนมิอาจละ สายตาจากบทกวีบทนี้ได้ 

 

      เมื่อได้พลิกอ่านบทกวีบทนี้พบว่าการใช้คำ มีความเรียบง่ายคนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ ง่าย ๆ ทว่าเนื้อหาของสารที่สื่อออกมานั้น หนักแน่นและคลุกเคลาด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งหดหู่หมอง เศร้า สิ้นหวัง ตื้นตันใจเปี่ยมหวังคิดถึง ดังต่อไปนี้

 

เพราะ “คำ” จึงทำให้ “ภาพจำยังชัดเจน” 

      เมื่อได้อ่านกวีนิพนธ์ “รำลึกวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ” ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับความเศร้าหม่นที่ยัง กึกก้องในหัวใจ เพราะการใช้คำของผู้เขียนซึ่งได้เลือกสรรคำที่อ่านเข้าใจง่ายและสื่อความหมายได้ชัดเจน 

 ยังจำดำทั้งเมืองได้ติดตา               ยังจำฟ้าทุกฟ้ามีสีหมอง

ยังจำเสียงเพลงร่ำทุกคำร้อง           ยังจำผองทุกคนที่หม่นตาม 

 

     จากตอนหนึ่งของกวีนิพนธ์ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเลือกสรรคำที่นำมาใช้เขียน เป็นคำที่มีความธรรมดา ที่คนทั่วไปสามารถอ่านได้เข้าใจง่ายและสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้มีการใช้คำซ้ำ เพื่อเน้นย้ำความหมายคำว่า “ยัง” ซึ่งมีความหมายว่า คงอยู่หรือมีอยู่ทำให้เห็นว่าภาพของความโศกเศร้า ในช่วงเวลานั้นยังคงตราตรึงอยู่ จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้คำ ขั้นต้นของแต่ละบทนั้น มีความเชื่อมโยงกัน สื่อให้เห็นถึงอารมณ์ความจงรักภักดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างชัดเจน เห็นได้จาก “นานกี่ปี กี่เดือนและกี่วัน” ซึ่งเป็นวรรคที่หนึ่งในบทที่หนึ่ง และ “จะนานสักแค่ไหนก็ไม่ลืม ” ซึ่งเป็นวรรคที่หนึ่งในบทที่สามเป็นการตอกย้ำความรู้สึกความจงรักภักดี แม้เวลาจะผ่านไปยาวนานสักเพียงใด แต่ภาพของความเศร้าโศกเสียใจยังคงยากที่จะลืม เพราะด้วยความรักและความจงรักภักดีที่มีอยู่อย่างท่วมท้นหัวใจ 

 

      ขณะที่ใจจดใจจ่อกับการอ่านกวีนิพนธ์บทนี้อย่างเงียบเชียบ เราจะสามารถเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้อย่างเต็มเปี่ยม แต่หากเรารับรู้ผ่านการฟังนั้นคงทำให้คุณค่าที่จะได้รับ แตกต่างออกไป เพราะเมื่อเราอ่านเราจะได้เห็นการเขียนคำซึ่งอยู่ติดกันและสามารถเข้าใจความหมายได้ง่าย  แต่หากเรารับรู้ผ่านการฟัง ซึ่งอ่านตามลักษณะของกลอน คืออ่านเว้นวรรค สามคำสองคำ และสามคำ จะพบกับการฉีกคำ ซึ่งทำให้ความหมายบางวรรคที่ต้องการจะสื่อนั้นไม่ราบรื่น ดังตัวอย่างเช่น 

 

      “ยังจำสายน้ำตา ที่บ่านอง” หรือ “ยังจำผอง ผู้คนที่หม่นตาม” และยังมีการใช้คำต่างระดับซึ่งส่งผลต่อความหมายของวรรคนั้นๆ เช่น “ระฆังทุกข์แว่วหวานกังวาลนภา” คำว่า นภาเป็นคำไวพจน์ที่มีความหมายว่า ท้องฟ้า ซึ่งเป็นคำต่างระดับอื่น ๆ ในวรรคนั้น เป็นต้น 

 

      หากมองภาพรวมของบทกวีบทนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ความงดงามทางด้านวรรณศิลป์การเลือกใช้ คำและการเล่นคำสัมผัสต่างๆ จะมิได้มีมากมายหรือสวยงามจน น่าปลาดใจ แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผ่าน ออกมาผ่านตัวอักษรเพียงวรรคละ ๘ คำนั้นทำให้ผู้อ่านตกอยู่ในห้วงลึกของความหดหู่และทำให้ภาพจำในวันนั้น ยังคงชัดเจนเสมอ… 

 

“ภาพ” ในทรงจำ ถูกฉายย้ำผ่านภาษา 

 

       ผู้เขียนร้อยเรียงภาษาเพื่อฉายย้ำภาพเหตุการณ์ความเศร้าโศกเสียใจในวันนั้นที่ยังคงหน่วงในความรู้สึกและตอกย้ำ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ดังต่อไปนี้

นานกี่ปี กี่เดือนและกี่วัน               ก็ยังฝันยังไหวอยู่ไม่หาย
ยังจำวันพระสุเมรุเอนทลาย           ยังจำสายน้ำตาที่บ่านอง

 

      จะเห็นได้ว่าบทนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าจะผ่านไปนานเพียงไร ภาพเหตุการณ์และความโศกเศร้าที่ราษฎรมียังคงอยู่ยังคงสะท้านไหวเสมือนว่าเหตุการณ์ในวันนั้น เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นหลักของโลกทั้งใบ พังทลายลงมา สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกสูญเสียที่รุนแรงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้

 

 ยังจำดำทั้งเมืองได้ติดตา               ยังจำฟ้าทุกฟ้ามีสีหมอง
ยังจำเสียงเพลงร่ำทุกคำร้อง           ยังจำผองผู้คนที่หม่นตาม 

 

      บทนี้แสดงให้เห็นว่าภาพเหตุการณ์ผู้คนทั่วเมืองแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สีดำ เพื่อไว้อาลัย นอกจากนี้บ้านเมืองที่เมื่อก่อนมีสีสันความสวยงาม แลเห็นแต่เป็นสีดำ เพราะมีการปลดป้ายสีต่างๆ เปลี่ยนเป็นสีดำทั่วเมือง สะท้อนภาพความหดหู่และความสูญเสียเป็นที่สุดของคนไทยทั้งชาติ

 

     “ยังจำฟ้าทุกฟ้ามีสีหมอง” วรรคดังกล่าวนี้เป็นการใช้คำ กล่าวเกินจริง เพราะในความเป็นจริง ท้องฟ้าหรือสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นปกติมิได้เปลี่ยนแปลงไป แต่หากผู้เขียนได้สอดแทรกอารมณ์ความรู้สึก สามารถรับรู้ได้ว่าฟ้าทุกฟ้ามีสีหมอง อาจมีความหมายรวมถึง ความหวังของใครๆ จากที่เคยใสสว่างอาจต้องหม่นหมองลง เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของอาณาประชาราษฎร์ ซึ่งราษฎรทุกคนต่างอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีอย่างมีความหวัง ซึ่งผู้เขียนยังได้เน้นย้ำสิ่งนี้ไว้ในตอนหนึ่งที่ว่า 

 

โอ้ พระองค์ ถ้าพระองค์ยังคงอยู่               จะทรงรู้ว่าทุกข์ไทยไม่หมดสิ้น

ไหนโควิดไหนบ้านเมืองเรื่องแผ่นดิน        พระภูมินทร์จะทุกข์ในพระทัยนัก

 

จะเห็นได้ว่าบทนี้แสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังและกำลังใจ “โอ้ พระองค์ ถ้าพระองค์ยังคงอยู่” เป็น กริยาที่เสมือนการรำพึงรำพัน เพราะคนไทยนั้น มีในหลวงรับกาลที่ ๙ เป็นเสมือนแสงทองส่องทางนำชีวิต  ทุกคนมีพระองค์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อเมื่อเกิดการสูญเสียก็เหมือนเสียสูญไปไม่มีหลักแหล่ง บทนี้จึง สะท้อนภาพความสูญเสียได้อย่างชัดเจนและหดหู่เป็นอย่างมาก 

 

รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ          วันเก่าเก่ายังอบอุ่นยังอิ่มฉ่ำ

มีพระรูปมีคลิปดูอยู่ซ้ำซ้ำ              เพื่อตอกย้ำ ว่าจงรักและภักดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยในปัจจุบัน มีเหตุบ้านการเมืองต่างๆ เข้ามาและหายไปมากมายแต่สิ่งที่ไม่ เคยจางหายไปจากสังคมไทยคือความจงรักภักดีต่อในหลวงรับกาลที่ ๙ พระองค์ยังคงอยู่ในหัวใจของคนไทย ยังคงมีพระรูปติดอยู่ทุกบ้าน ในสื่อโซเชียลมีเดียยังคงมีการนำเสนอพระรูปและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับ พระองค์อยู่ตลอด บทนี้จึงสะท้อนภาพของความจงรักภักดีได้อย่างชัดเจนเพราะเป็นภาพที่เรามองเห็นอยู่จริง ในปัจจุบันและภาพของพระองค์ยังคงตราตรึงในหัวใจและในความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

 

“เสียง” แซ่ซ้องที่ก้องดัง 

     การออกเสียงของกวีนิพนธ์นั้นยังคงซึ่งความไพเราะในด้านของเสียง เพราะแต่งถูก ต้องตามฉันทลักษณ์ และเสียงท้ายวรรคที่กำหนด แม้ในบางวรรคมีคำเกินหรือการใช้คำสัมผัสในซ้ำ แต่มิได้ถือว่าขาดความไพเราะ เพราะยังอยู่ในขนบของกวีนิพนธ์ นอกจากความไพเราะด้านเสียงจากตัวบทแล้ว ยังสะท้อนให้ผู้อ่าน ได้ยินถึงเสียงแห่งความโศกเศร้าและความหดหู่แต่ก็ยังสอดแทรกเสียงของความตื้นตัน ดังจะเห็นได้จาก 

 

โลกทั้งโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า            มีแต่เรื่องทุกข์เศร้าให้ตระหนัก

หากอยู่ได้พอเหมาะเพราะความรัก             ความพร้อมพรักและน้ำใจมีให้กัน

 

      จะเห็นว่าบทนี้ส่งเสียงให้ผู้อ่านได้ยินถึงเสียงแห่งความตื้นตัน ถึงแม้ว่าโลกทั้งโลกจะเปลี่ยนแปลงไป การสูญเสียจะทำให้สิ้นหวังเพียงไรแต่เราคนไทยยังยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความรักและความมีน้ำใจที่ปลอบ ชโลมหัวใจกันและกันให้ก้าวผ่านไปได้เสียงนี้เป็นเสียงที่ก่อให้เกิดการ ลงใจที่จะก้าวเดินไปต่อ ซึ่งบทต่อไป ผู้เขียนยังเขียนถึงพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์ซึ่งยังคงอยู่ และปิดท้ายด้วยเสียงแห่งความแซ่ซ้องว่า เราคนไทยมีความจงรักและภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างเต็มเปี่ยมหัวใจ 

 

รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ          วันเก่าเก่ายังอบอุ่นยังอิ่มฉ่ำ

มีพระรูปมีคลิปอยู่ซ้ำ ซ้ำ              เพื่อตอกย้ำว่าจงรักและภักดี

 

     "คำ ภาพ และเสียง" ที่สะท้อนออกมาจากบทกวีนิพนธ์บทนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนได้กลั่นกรอง อารมณ์และความรู้สึกที่มิได้เป็นส่วนตัว แต่เป็นภาพจำที่ยังคงชัดเจนในความทรงจำ และเสียงที่ยังคงก้องดัง ในโสตประสาทของคนไทยอย่างชัดเจน แม้ว่ากลวิธีในการใช้ภาษาของผู้เขียนอาจมิได้ดีเลิศเกินกว่าใคร แต่สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับคือความรู้สึกที่ท่วมท้น มากไปกว่านั้นกวีนิพนธ์บทนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่า เหตุการณ์ความสูญเสียที่ผ่านมาและจะผ่านไปเป็นธรรมดาของโลกแต่สิ่งที่จะอยู่กับเราไปตลอดคือความดีการกระทำ และ คำสั่งสอนของพระองค์ที่จะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เราได้ก้าวเดินต่อไป

 

 

บทวิจารณ์กวีนิพนธ์โดย นายตะวัน ผิวทองงาม
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6  

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ