จอห์น สไตน์เบ็ค : มนุษย์คือภัยมหันต์และความหวังสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ

จอห์น สไตน์เบ็ค

 

       จอห์น สไตน์เบ็ค เกิดในครอบครัวเชื้อสายไอริชและเยอรมันในเมืองซารินา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 เขาสอบเข้าเรียนได้ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่เพราะความขัดสนด้านการเงินทำให้เขาเรียนไม่จบ ต้องออกกลางครัน ปี พ.ศ.2468 เขาดิ้นรนไปนิวยอร์กจนสำเร็จ ด้วยความหวังว่างานเขียนของเขาจะมีสำนักพิมพ์ที่นั่นสนใจ แต่เมื่อล้มเหลวจากการหาสำนักพิมพ์ สไตนเบ็คทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ในนิวยอร์กได้สักพัก ก็เดินทางกลับแคลิฟอร์เนีย มุมานะเขียนหนังสือต่อไปพร้อมๆ กับทำงานสารพัดชนิดเพื่อเลี้ยงตัวเอง เป็นต้นว่า ไปรับจ้างเป็นคนเก็บผลไม้ตามไร่ เป็นผู้ช่วยในห้องแล็ปเคมี และเป็นแม้แต่สัปเหร่อ        

 

       หนังสือที่ทำให้สไตน์เบ็คโด่งดังในฐานะนักเขียนจากฝั่งตะวันตกก็คือ Tortilla Flat ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2479 สไตนเบ็คมีงานเขียนตามมาอีกมากมาย เล่มที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกได้แก่ Of Mice and Men (พ.ศ.2480) The Grape of Wrath (พ.ศ.2482) The Pearl (พ.ศ.2490) สไตนเบ็คเป็นนักเขียนชาวอเมริกันคนที่เจ็ดที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ.2505 ในฐานะผู้สร้าง "งานเขียนที่เพียบพร้อมทั้งจินตนาการและความสมจริงซึ่งโดดเด่นด้วยทัศนะต่อสังคมอันเฉียบคมและอารมณ์ขันอย่างผู้เข้าใจ" จอห์น สไตน์เบ็ค เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2511
 

        สไตน์เบ็คเคยพูดการเขียนหนังสือไว้ว่า "การที่จะเขียนเรื่องใดๆ ให้ดีนั้น ถ้าไม่รักสิ่งนั้นอย่างที่สุด คุณก็จะต้องเกลียดมันอย่างเข้ากระดูกดำ" สำหรับสไตน์เบ็คดูเหมือนว่าทุกอย่างถ้าไม่เป็นสีขาวก็ต้องเป็นสีดำ ไม่มีทางอยู่ก้ำกึ่งระหว่างความดีและความชั่ว แต่สไตน์เบ็คมีข้อดีตรงที่เขาไม่หลงติดอยู่ในความเชื่อของตนเองตลอดไป และใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นของผู้อื่น อีกทั้งพร้อมจะเปลี่ยนแปลงทัศนะของตนเอง ในบทความสั้นๆ ที่ชื่อว่า "ความเกรงขามและศรัทธาในภาษา" สไตน์เบ็คสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะของเขาต่องานเขียนและชีวิตที่ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาอันงดงามราวบทกวี จึงขอแปลมาให้อ่านดังนี้

 

        คนเขียนหนังสือนั้นถูกบังคับให้ต้องเขียนในสิ่งที่เขารู้แร้สึกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความเข้มงวดของภาษาจะเป็นผู้ประจานและลงโทษความโง่เขลาและความไม่ซื่อสัตย์ของนักเขียนเอง นักเขียนนั้นอยู่ด้วยความยำเกรง และเลื่อมใสต่อภาษา เพราะภาษานั้นเป็นทั้งผู้โอบอ้อมอารีและโหดร้ายทารุณ ภาษาสามารถจะเปลี่ยนความหมายได้ในชั่วพริบตาต่อหน้าต่อตาของคุณ ภาษาเหมือนกับเนยในตู้เย็นดูดซับกลิ่นและรสหลากหลายรอบตัว แน่นอน นักเขียนบางคนที่ขาดความซื่อสัตย์ในภาษา สามารถจะหลอกผู้คนได้ชั่วขณะ แต่เขาไม่สามารถหลอกอยู่ได้นานหรอก

 

         นักเขียนคือคนว้าเหว่ที่พยายามจะสื่อสารกับผู้อื่น เสมือนดวงดาวอันไกลโพ้นที่พยายามส่งสัญญาณติดต่อกับดาวดวงอื่นๆ นักเขียนไม่ได้พยายามที่จะพูด หรือสั่งสอน หรือกะเกณฑ์ใครๆทั้งสิ้น เขาเพียงแต่พยายามแสวงหาความสัมพันธ์ของความหมาย คุณค่าความรู้สึก เป็นสิ่งรอบตัวที่เขาพบเห็น เราเป็นสัตว์ที่โดดเดี่ยวและว้าเหว่ เราพยายามที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเหว่น้อยลงตลอดชั่วชีวิตของเรา วิธีการที่เราใช้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็คือ พยายามเล่าเรื่องและอ้อนวอนให้ผู้ฟังรู้สึกหรือพูดกับเราว่า "ใช่ ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยนั่นก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึก คุณไม่โดดเดี่ยวอย่างที่คุณคิดหรอก"

 

         แน่นอน นักเขียนเอาชีวิตมาจัดลำดับเสียใหม่ ย่นย่อเวลาให้กระชับขึ้น ปรุงแต่งเหตุการณ์ให้เข้มข้นขึ้น สร้างจุดเริ่มต้น กลางเรื่อง และจุดจบของเรื่อง เหมือนกับที่ในวันๆ หนึ่งต้องมีเช้า กลางวัน และกลางคืน หรือในชีวิตคนต้องมีเกิด เติบโต และตาย แต่แม้ว่าในหนังสือจะมีการเปิดฉาก และปิดฉาก แต่เรื่องราวของชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างไม่มีสิ้นสุด

 

         การสิ้นสุดของเรื่องเป็นสิ่งที่น่าเศร้าสลดสำหรับนักเขียน มันเป็นเสมือนความตายทีละน้อยของนักเขียน เมื่อเขาเขียนคำสุดท้ายของเรื่อง ทุกอย่างก็จบสิ้นลง แต่มันไม่ได้จบสิ้นจริงๆ หรอก เรื่องราวจะยังคงดำเนินต่อไปและทิ้งนักเขียนไว้เบื้องหลัง เพราะว่าไม่มีเรื่องราวใดในชีวิตที่จบสิ้น

 

         สไตน์เบ็คอยู่ในยุคเฟื่องฟูของแนวความคิด Nihilsm ที่เห็นความตายและการทำลายล้างเป็นทางออกของมนุษย์ สไตน์เบ็คได้พบายามที่จะโต้กระแสความคิดนี้เมื่อเขาพูดถึงจุดมุ่งหมายของนักเขียน

 

        "แฟชั่นของงานเขียนปัจจุบันก็คือการให้มนุษย์ทุกคนในเรื่องต้องพ่ายแพ้ต่อชีวิต หรือไม่ก็ถูกทำลายล้าง ผมไม่คิดว่ามนุษย์ทุกคนจะถูกทำลายล้าง ผมสามารถจะบอกชื่อคนเหล่านั้นได้เลยว่ามีใครบ้าง และโลกเราอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะคนเหล่านั้น ชีวิตเหมือนกับการรบอยู่ประการหนึ่ง ตรงที่คนที่พ่ายแพ้นั้นจะถูกลืม มีแต่ผู้ชนะเท่านั้นที่ควรจะจำ นักเขียนในปัจจุบันซึ่งรวมถึงตัวผมด้วยมีแนวโน้มที่จะสดุดีความย่อยยับของจิตใจ ทั้งที่เราก็รู้กันอยู่ว่าจิตใจของมนุษย์ได้ถูกทำลายให้ย่อยยับมามากเพียงใดและบ่อยครั้งแค่ไหน ทว่ามนุษย์ยังมีความหวังหลงเหลืออยู่ เพราะว่าในบางครั้งจิตใจไม่อาจจะถูกทำลายลงได้ ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายในการเขียนหนังสือนอกเหนือจากการเขียนให้น่าสนใจแล้ว นักเขียนมีหน้าที่ที่จะเชิดชู ส่งเสริมและให้กำลังใจ หากงานเขียนจะได้สร้างคุณปการใดๆ ให้แก่พัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์และความเจริญทางด้านวัฒนธรรมแล้วไซร้ สิ่งนั้นก็คืองานเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้ช่วยเป็นหลักค้ำจุนให้มนุษย์ได้พักพิง เป็นเสมือนแม่ที่คอยให้คำปรึกษาแก่ลูก เป็นขุมปัญญาที่ให้มนุษย์ได้ตักตวง เป็นความเข็มแข็งท่ามกลางความอ่อนแอ เป็นความกล้าหาญที่ปลอบประโลมความขลาดและหวาดกลัว ผมไม่ปฎิเสธว่ามนุษย์นั้นอ่อนแอ น่าเกลียด และจอมอันธพาลอย่างร้ายกาจ แต่หากนั่นคือทั้งหมดที่มนุษย์เราเป็น เราคงสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว และมีเพียงฟอสซิลของกระดูกกรามบางชิ้น หรือฟันบางซี่หลงเหลืออยู่เป็นหลักฐานชี้ถึงการมีอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น"

 

       ศรัทธาและความเชื่อมันในความเป็นมนุษย์ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของงานสไตน์เบ็ค งานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้าย การทำลายล้างของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันเขายังฝากความหวังว่ามนุษย์จะเป็นผู้กอบกู้คุณค่าของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ เหมือนกับที่เขาพูดไว้ในสุนทรพจน์ในวันที่เขาได้รับรางวัลโนเบลว่า

 

"มนุษย์เป็นภัยมหันต์และเป็นความหวังสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ"

 

cr. www.happyreading.in.th

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ