ถอดรหัสเยอรมัน : มหกรรมหนังสือแฟรงค์เฟิร์ต ในสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 12

ถอดรหัสเยอรมัน

มหกรรมหนังสือเมืองแฟรงค์เฟิร์ต (the Frankfurt Book Fair) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นงานซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอุตสาหกรรมหนังสือ โดยเฉพาะในระดับสำนักพิมพ์นานาชาติ ด้วยจำนาน 7,300 บูธ จากกว่า 100 ประเทศที่เดินทางมาจากทุกทิศทั่วโลก และผู้เข้าชมงานมากกว่า 280,000 คน

ในทุกๆ ปี ผู้จัดงานมหกรรมหนังสือเมืองแฟรงค์เฟิร์ต จะรวบรวมหนังสือจำนวนมากมายจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะจากบรรดาสำนักพิมพ์เยอรมันที่จะแสดงถึงแนวโน้มหรือเทรนด์ล่าสุดของวงการหนังสือโลก และได้นำออกไปจัดแสดงร่วมกับงานแสดงหนังสือเครือข่ายอื่นในประเทศต่างๆ ที่มีงานแสดงหนังสือในระดับนานาชาติ เช่นเดียวกัน การจัดแสดงหนังสือเหล่านี้ก็นำหนังสือที่สำคัญๆ ซึ่งออกใหม่จากเยอรมนีมาร่วมแสดง รวมถึงหนังสือที่ทำให้เข้าใจความรู้ท้องถิ่นพื้นถิ่นของประเทศเยอรมนีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเด็กและเยาวชน หนังสือวรรณกรรมร่วมสมัยใหม่ๆ พร้อมกับแนะนำให้ทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์ของเยอรมัน ผ่านการประสานของฝ่ายต่างประเทศของมหกรรมหนังสือเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ที่จะนำเสนอในสิ่งต่างๆ เหล่านี้

 

 

ในปี 2557 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 12 (42th National Book Fair & 12th Bangkok International Book Fair 2014) ที่ผ่านมา ก็เป็นหมุดหมายล่าสุดที่มีการทำงานร่วมกันกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากมองกลับไปในอดีต เมื่อ 4 ปี จากงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8 ปี 2553 ทางสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ได้ร่วมกับงานมหกรรมหนังสือระดับโลกแฟรงเฟิร์ต เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ กรุงเทพฯ มาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนั้น มีการแนะนำหนังสือใหม่ รวมทั้งการสัมมนากันในหัวข้อต่างๆ

หากจำกันได้ มีการจัดแสดงบูธนิทรรศการหนังสือใหม่ภาษาเยอรมันในงาน และได้ให้ความสำคัญกับหนังสือของนักเขียนหญิงร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักเขียนที่ได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรม อันได้แก่ คุณแฮร์ต้า มึลเลอร์ (รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2009) และ คุณคัทริน ชมิดท์ (รางวัลหนังสือเยอรมันยอดเยี่ยม 2009)

ในส่วนของ Reading Party มีแขกรับเชิญได้รับเกียรติจาก คุณยาคอบ ไฮน์ มาเปิดตัวหนังสือเรื่อง ‘ชายหนุ่มผู้ถอนตัวจากโลก’ ในฉบับแปลภาษาไทย ส่วนแขกรับเชิญอีกท่าน นักเคมี คุณอันเดรอัส คอร์น-มึลเลอร์ จะมาเปิดการแสดงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ‘Magic Andy’ อันน่าตื่นตาตื่นใจให้ผู้เข้าชมงานได้ดูกัน

 

 

โดยมีรายการพิเศษคือ การจัดแสดงนิทรรศการหนังสือภาพถ่าย 18 เล่มที่ได้รับ Deutscher Fotobuchpreis 2010 (รางวัลหนังสือภาพถ่ายเยอรมัน) จากงาน Stuttgarter Buchwochen (งานสัปดาห์หนังสือแห่งเมืองชตุทท์การ์ท) โดยมี Börsenverein des Deutschen Buchhandels, Landesverband Baden-Württemberg (สมาคมผู้จัดจำหน่ายหนังสือเยอรมัน ของรัฐบาเดน-เวอร์ทเทมแบร์ก) เป็นผู้ให้รางวัล ซึ่งได้นำไปจัดแสดงในประเทศเยอรมนีและในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย โดยจะจัดแสดงผลงานที่ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง (Gold) และรางวัลระดับเหรียญเงิน (Silber)

เมื่อย้อนหลังกลับไปก็พบว่า งานคราวนั้นเป็นที่ประทับใจของผู้อ่านชาวไทยและบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังสือของไทยเป็นอย่างมาก มาในปี 2557 นี้ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย สถานทูตเยอรมัน และเยอรมัน บุ๊ก เซ็นเตอร์ ได้นำจิตวิญญาณของงานเทศกาลหนังสือเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ถือเป็นงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยนับจากสำนักพิมพ์ที่มาออกบูธและผู้เข้าร่วมชมงาน ได้กลับมาจัดมาจัดแสดงในเมืองไทยอีกครั้งในสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 12 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ

บูธเยอรมนี จำลองเทศกาลหนังสือแห่งนครแฟรงก์เฟิร์ต เน้นหัวใจของการซื้อขายลิขสิทธิ์และโชว์ศิลปวัฒนธรรมของเยอรมันผ่านหนังสือหลากหลายรูปแบบ 17 สำนักพิมพ์เยอรมันที่พร้อมใจกันนำหนังสือออกใหม่ล่าสุดมาจัดแสดง อาทิเช่น วรรณกรรมเยอรมัน การ์ตูน และนิยายภาพ รายการลิขสิทธิ์หนังสือเด็กและเยาวชน และหนังสือเกี่ยวกับแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะเบอร์ลิน

คุณแคธารีนา สโตรช ผู้ดูแลเทศกาลหนังสือเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ที่รับผิดชอบประสานงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของงานแสดงหนังสือแฟรงค์เฟิร์ตจะไม่คล้ายกับของเมืองไทย เพราะไม่ได้มุ่งขายให้กับผู้อ่านโดยตรง แต่เน้นขายลิขสิทธิ์ และทำสัญญาระหว่างสำนักพิมพ์และนักเขียน ที่สนใจนำหนังสือเหล่านั้นไปแปลและตีพิมพ์ สำหรับประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 500 ปี งานเทศกาลหนังสือเมืองแฟรงก์เฟิร์ตยังส่งเสริมงานเขียนจากประเทศโลกที่ 3 ผ่านหน่วยงาน ‘ลิตพรอม’

“เพื่อนำเอาหนังสือที่โดดเด่นจากทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ไป แปลและเผยแพร่ในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ และตั้ง ‘ลิตแค็ม’ ซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์ลดการไม่รู้หนังสือในปี 2549 โดยหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจัดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก สนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี” เธอบอกว่า การมาร่วมงานที่กรุงเทพฯ ในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกจากยูเนสโก

“หากได้ไปลองสังเกตดู หนังสือที่ทางสถานทูตเยอรมันนำมาเปิดตัวในคราวนี้ จะเน้นเป็นหนังสือเด็ก หนังสือวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและตรรกะการคิด รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กฝึกฝนภาษาเยอรมันได้อย่างแยบยล”

ในงานนี้ ทางสถาบันเกอเธ่จัดให้มีการบรรยายพิเศษและสัมมนาเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์คช็อปกับนักเขียนนิยายภาพชื่อดังจากเยอรมนี เป็นโปรแกรมพิเศษสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการ์ตูนและนิยายภาพ (graphic novels) ครั้งนี้มี คุณรายน์ฮาร์ด ไคลสท์ ศิลปินชื่อดังจากเยอรมนี ที่มีงานแนวนี้ออกมากว่า 60 เรื่อง ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย เช่น รางวัลวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม 2013 และ Grand Prix de Lyon 2013 มาพูดคุยถึงความเป็นไปในแวดวงการ์ตูนและนิยายภาพร่วมสมัยเยอรมัน ใครอยากรู้จักศิลปะสาขานี้จากฝั่งเยอรมนีว่ามีความพิเศษอย่างไร และใครสนใจซื้อหนังสือสามารถเลือกดูได้ที่เยอรมัน บุ๊คเซ็นเตอร์ ภายในบูธนี้ด้วย

อีกไฮไลท์ก็คือ มารู้จักพิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลินกันดีกว่า! เพราะความสนใจในเมืองหลวงของเยอรมนีจากทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บูธเยอรมนี้จึงมีการนำหนังสือ 20 เล่ม มาจัดแสดงด้วย ซึ่งส่วนมากเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการต่างๆ จะพิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมเบอร์ลินจึงได้รับความสนใจ

ส่วนวรรณกรรมเยอรมันมีให้เลือกกันมากมายเลย อยากเช่น เรื่อง ‘Das Ungeheuer’ โดย เทเรเซีย มอร่า ที่ชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมเยอรมันยอดเยี่ยม 2013 นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมที่เข้าร่วมรอบ 20 เรื่องสุดท้ายมาด้วย

ดร.มาร์ลา ชตูเคินแบร์ก ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ทางเยอรมนีก็มองว่า งานแสดงหนังสือในไทยมีความน่าตื่นตาตื่นใจมาก โดยเฉพาะจำนวนของคนที่มาร่วมชมงานและซื้อหนังสือมีจำนวนมากจนแน่นขนัดไปหมดในทุกพื้นที่ จึงมองเห็นว่า สมควรที่จะมีความร่วมมือกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมของเยอรมันที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน

“ในทางหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเด็กและวรรณกรรม เราก็ให้ความสำคัญในการที่จะแปลหนังสือภาษาเยอรมันมาเป็นภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง หนังสือรางวัลโนเบลของนักเขียนเยอรมัน หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงมีสำนักพิมพ์ในไทยที่ซื้อลิขสิทธิ์และร่วมมือแปลหนังสือเยอรมันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งทางเกอเธ่เอง ก็พร้อมและยินดีเป็นตัวกลางประสานในเรื่องต่างๆ เหล่านี้”

ดร.มาร์ลา บอกว่า ในบูธเยอรมนีมีหนังสือประเภทอื่นที่น่าสนใจ อาทิเช่น วรรณกรรมเยอรมันใหม่ล่าสุด วรรณกรรมเยอรมันที่แปลเป็นภาษาไทย หนังสือที่เกี่ยวกับแกเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเบอร์ลิน และรายการลิขสิทธิ์ 2014 ของหนังสือเด็กและเยาวชน และมีกิจกรรมแรลลี่สำหรับให้ทุกคนได้รู้จักกับหนังสือเยอรมันมากขึ้น รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงการหนังสือของเยอรมนี และการขอทุนสนับสนุนการแปลสำหรับสำนักพิมพ์ นักแปล และผู้ที่สนใจ รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือต่างๆ

แม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความสำเร็จอันน่าชื่นชมของบูธเยอรมนีในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 12 ดูจะเป็นต้นแบบในความกระตือรือร้นและกระหายที่จะนำแบบอย่างของการจัดงานแนะนำหนังสือระดับโลกให้กับงานแสดงหนังสือในประเทศต่างๆ ได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ต่อไปในอนาคตอย่างน่าชื่นชม เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิธีการที่มีมิตรภาพและความความจริงใจที่จะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

 

 

บุ๊กแฟร์ อินเตอร์ : ธวัช สัจจะมั่น

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ